เขียนโดยมาระโก 12:1-44

12  แล้ว​พระ​เยซู​ก็​ยก​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ให้​ฟัง​ว่า “มี​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​ปลูก​องุ่น+และ​ทำ​รั้ว​ล้อม​รอบ​สวน เขา​ขุด​บ่อ​ย่ำ​องุ่น​ใน​สวน​นั้น แถม​ยัง​สร้าง​หอคอย​ไว้​ด้วย+ เสร็จ​แล้ว​เขา​ก็​ให้​คน​มา​เช่า​สวน​องุ่น จาก​นั้น​เขา​ก็​เดิน​ทาง​ไป​ต่าง​ประเทศ+  เมื่อ​ถึง​ฤดู​เก็บ​ผล เจ้าของ​สวน​ก็​ส่ง​ทาส​คน​หนึ่ง​ไป​หา​คน​เช่า​สวน​เพื่อ​จะ​รับ​ส่วน​แบ่ง​ผล​องุ่น​จาก​พวก​เขา  แต่​พวก​คน​เช่า​สวน​จับ​ทาส​คน​นั้น​ไว้ ทุบ​ตี​เขา แล้ว​ไล่​กลับ​ไป​มือ​เปล่า  เจ้าของ​สวน​จึง​ส่ง​ทาส​อีก​คน​หนึ่ง​ไป​หา​คน​เช่า แต่​พวก​นั้น​รุม​ตี​หัว​ทาส​และ​แกล้ง​เขา​จน​อับอาย+  แล้ว​เจ้าของ​สวน​ก็​ส่ง​ทาส​ไป​อีก​คน​หนึ่ง พวก​คน​เช่า​ก็​ฆ่า​ทาส​คน​นั้น เจ้าของ​สวน​ก็​ยัง​ส่ง​คน​ไป​อีก​เรื่อย ๆ บาง​คน​ก็​ถูก​ทุบ​ตี บาง​คน​ก็​ถูก​ฆ่า​ตาย  เจ้าของ​สวน​มี​ลูก​ชาย​ที่​เขา​รัก​มาก​อยู่​คน​หนึ่ง+ ใน​ที่​สุด เขา​ก็​ส่ง​ลูก​คน​นี้​ไป​หา​คน​เช่า​เพราะ​เขา​คิด​ใน​ใจ​ว่า ‘พวก​นั้น​คง​ต้อง​นับถือ​ลูก​ของ​เรา’  แต่​คน​เช่า​สวน​กลับ​พูด​กัน​ว่า ‘นี่​ไง คน​ที่​จะ​รับ​มรดก+ จับ​มัน​ไป​ฆ่า​เลย สวน​นี้​จะ​ได้​ตก​เป็น​ของ​เรา’  พวก​นั้น​จึง​จับ​ตัว​ลูก​ชาย​เจ้าของ​สวน​ไป​ฆ่า แล้ว​โยน​ออก​ไป​นอก​สวน​องุ่น+  พวก​คุณ​คิด​ว่า เจ้าของ​สวน​จะ​ทำ​ยัง​ไง? เขา​ก็​จะ​มา​ฆ่า​คน​เช่า​พวก​นั้น แล้ว​ให้​คน​อื่น​มา​เช่า​สวน​องุ่น​แทน+ 10  คุณ​ไม่​เคย​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ข้อ​นี้​หรือ​ที่​ว่า ‘หิน​ที่​ช่าง​ก่อ​สร้าง​ทิ้ง​ไป​แล้ว กลาย​มา​เป็น​หิน​หัว​มุม​หลัก+ 11  หิน​ก้อน​นี้​มา​จากพระ​ยะโฮวา​และ​น่า​มหัศจรรย์​ใน​สายตา​พวก​เรา’”+ 12  พวก​ผู้​นำ​ศาสนา​รู้​ว่า​พระ​เยซู​กำลัง​พูด​ถึง​พวก​เขา จึง​หา​ทาง​จับ​ท่าน แต่​ก็​ไม่​กล้า​ลง​มือ​เพราะ​กลัว​ประชาชน พวก​เขา​ได้​แต่​เดิน​จาก​ไป+ 13  ต่อ​มา พวก​เขา​ส่ง​ฟาริสี​บาง​คน​กับ​พรรค​พวก​ของ​เฮโรด​ไป​หา​พระ​เยซู​เพื่อ​หา​ทาง​จับ​ผิด​คำ​พูด​ของ​ท่าน+ 14  เมื่อ​พวก​นั้น​มา​ถึง​ก็​พูด​กับ​พระ​เยซู​ว่า “อาจารย์​ครับ พวก​เรา​รู้​ว่า​ท่าน​เป็น​คน​ซื่อ​สัตย์ ไม่​ทำ​อะไร​เพื่อ​เอา​ใจ​มนุษย์ และ​ไม่​เห็น​แก่​หน้า​ใคร​อยู่​แล้ว ท่าน​สอน​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา ขอ​ถาม​หน่อย​ว่า ถูก​ต้อง​ไหม​ที่​เรา​จะ​เสีย​ภาษี​ให้​ซีซาร์? 15  ควร​เสีย​หรือ​ไม่​ควร​เสีย?” พระ​เยซู​รู้​ว่า​พวก​นั้น​คิด​ไม่​ซื่อ จึง​ตอบ​ว่า “พวก​คุณ​หา​เรื่อง​จับ​ผิด​ผม​ทำไม? เอา​เหรียญ​เดนาริอัน​มา​ให้​ผม​สิ” 16  พวก​เขา​ก็​ยื่น​เหรียญ​หนึ่ง​ให้ แล้ว​ท่าน​ถาม​พวก​เขา​ว่า “นี่​รูป​ใคร และ​ชื่อ​ของ​ใคร​อยู่​บน​เหรียญ​นี้?” พวก​เขา​ตอบ​ว่า “ซีซาร์”+ 17  พระ​เยซู​จึง​พูด​ว่า “อะไร​ที่​เป็น​ของ​ซีซาร์​ก็​ให้​กับ​ซีซาร์+ และ​อะไร​ที่​เป็น​ของ​พระเจ้า​ก็​ให้​กับ​พระเจ้า”+ พวก​เขา​ก็​ถึง​กับ​อึ้ง​ไป 18  พวก​สะดูสี​ก็​มา​หา​พระ​เยซู​ด้วย พวก​นี้​ไม่​เชื่อ​เรื่อง​การ​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย+ พวก​เขา​ถาม​ว่า+ 19  “อาจารย์​ครับ โมเสส​เขียน​บอก​เรา​ไว้​ว่า ถ้า​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​ตาย​ไป​และ​ทิ้ง​ภรรยา​ไว้ แต่​ยัง​ไม่​มี​ลูก พี่​ชาย​หรือ​น้อง​ชาย​ของ​เขา​ควร​แต่งงาน​กับ​ภรรยา​ของ​ผู้​ตาย และ​มี​ลูก​ให้​กับ​ผู้​ตาย​นั้น+ 20  แล้ว​ถ้า​ครอบครัว​หนึ่ง​มี​ลูก​ชาย 7 คน คน​โต​แต่งงาน​กับ​ผู้​หญิง​คน​หนึ่ง​แล้ว​ก็​ตาย​ไป​ตอน​ที่​ยัง​ไม่​มี​ลูก 21  คน​ที่​สอง​จึง​รับ​เธอ​มา​เป็น​ภรรยา แต่​ก็​ตาย​ไป​ตอน​ที่​ยัง​ไม่​มี​ลูก คน​ที่​สาม​ก็​เป็น​อย่าง​นั้น​ด้วย 22  ทั้ง 7 คน​ตาย​ไป​ตอน​ที่​ยัง​ไม่​มี​ลูก ใน​ที่​สุด ผู้​หญิง​คน​นั้น​ก็​ตาย​ด้วย 23  แล้ว​ตอน​ที่​ทุก​คน​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย ผู้​หญิง​คน​นั้น​จะ​เป็น​ภรรยา​ของ​ใคร​ล่ะ เพราะ​ทั้ง 7 คน​เคย​เป็น​สามี​ของ​เธอ?” 24  พระ​เยซู​ตอบ​พวก​เขา​ว่า “พวก​คุณ​คิด​ผิด​แล้ว คุณ​ไม่​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์​และ​ไม่​รู้​ว่า​พลัง​ของ​พระเจ้า​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง+ 25  เมื่อ​ถึง​เวลา​ที่​คน​ตาย​ฟื้น​ขึ้น​มา พวก​เขา​จะ​ไม่​แต่งงาน แต่​จะ​เป็น​เหมือน​ทูตสวรรค์+ 26  ใน​เรื่อง​ที่​คน​ตาย​จะ​ฟื้น​ขึ้น​มา​นั้น คุณ​ไม่​ได้​อ่าน​เรื่อง​พุ่ม​หนาม​ใน​หนังสือ​ของ​โมเสส​หรือ ที่​พระเจ้า​บอก​โมเสส​ว่า ‘เรา​เป็น​พระเจ้า​ของ​อับราฮัม พระเจ้า​ของ​อิสอัค และ​พระเจ้า​ของ​ยาโคบ’?+ 27  พระองค์​ไม่​ได้​เป็น​พระเจ้า​ของ​คน​ตาย แต่​เป็น​พระเจ้า​ของ​คน​เป็น พวก​คุณ​นี่​เข้าใจ​ผิด​จริง ๆ”+ 28  มี​ครู​สอน​ศาสนา​คน​หนึ่ง​ยืน​ฟัง​เรื่อง​ที่​พวก​สะดูสี​ถก​กับ​พระ​เยซู และ​เห็น​ว่า​พระ​เยซู​ตอบ​ได้​ดี เขา​จึง​ถาม​ท่าน​ว่า “กฎหมาย​ของ​โมเสส​ข้อ​ไหน​สำคัญ​ที่​สุด?”+ 29  พระ​เยซู​ตอบ​ว่า “ข้อ​ที่​สำคัญ​ที่​สุด​คือ ‘ชาว​อิสราเอล ฟัง​ให้​ดี พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​ของ​เรา และ​พระ​ยะโฮวา​มี​เพียง​องค์​เดียว​เท่า​นั้น 30  คุณ​ต้อง​รัก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​คุณ​สุด​หัวใจ สุด​ชีวิต สุด​ความ​คิด และ​สุด​กำลัง’+ 31  ข้อ​ที่​สอง​คือ ‘ให้​รัก​คน​อื่น​เหมือน​รัก​ตัว​เอง’+ ไม่​มี​กฎหมาย​ข้อ​ไหน​สำคัญ​กว่า​สอง​ข้อ​นี้​อีก​แล้ว” 32  ครู​สอน​ศาสนา​คน​นั้น​บอก​พระ​เยซู​ว่า “อาจารย์​ครับ ท่าน​พูด​ได้​ดี​และ​ถูก​ต้อง​ที่​ว่า ‘พระเจ้า​มี​เพียง​องค์​เดียว​เท่า​นั้น และ​ไม่​มี​พระเจ้า​อื่น​นอก​จาก​พระองค์’+ 33  การ​รัก​พระเจ้า​อย่าง​สุด​หัวใจ สุด​ความ​คิด และ​สุด​กำลัง และ​รัก​คน​อื่น​เหมือน​รัก​ตัว​เอง มี​ค่า​ยิ่ง​กว่า​เครื่อง​บูชา​เผา​และ​เครื่อง​บูชา​อื่น​ทั้ง​หมด”+ 34  พระ​เยซู​เห็น​ว่า​เขา​ตอบ​ได้​ดี​มาก จึง​พูด​กับ​เขา​ว่า “คุณ​ไม่​ไกล​จาก​รัฐบาล*ของ​พระเจ้า​แล้ว” หลัง​จาก​นั้น​ก็​ไม่​มี​ใคร​กล้า​ถาม​อะไร​ท่าน​อีก+ 35  พระ​เยซู​ยัง​สอน​ใน​วิหาร​ต่อ​ไป ท่าน​พูด​ว่า “ทำไม​พวก​ครู​สอน​ศาสนา​ถึง​พูด​ว่า​พระ​คริสต์​เป็น​ลูก​หลาน​ของ​ดาวิด+ 36  ใน​เมื่อ​พลัง​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า​ดล​ใจ+ดาวิด​ให้​พูด​ว่า ‘พระ​ยะโฮวา​พูด​กับ​ผู้​เป็น​นาย​ของ​ผม​ว่า “นั่ง​ข้าง​ขวา​ของ​เรา​ไป​ก่อน จน​กว่า​เรา​จะ​ทำ​ให้​พวก​ศัตรู​ของ​เจ้า​อยู่​ใต้​เท้า​เจ้า”’+ 37  ถ้า​ดาวิด​เอง​ยัง​เรียก​พระ​คริสต์​ว่า ‘ผู้​เป็น​นาย’ แล้ว​พระ​คริสต์​จะ​เป็น​ลูก​หลาน​ของ​ดาวิด​ได้​ยัง​ไง?”+ ประชาชน​มาก​มาย​ที่​นั่น​ชอบ​ฟัง​พระ​เยซู​สอน 38  ท่าน​สอน​ต่อ​ไป​ว่า “ระวัง​พวก​ครู​สอน​ศาสนา​ให้​ดี พวก​เขา​ชอบ​ใส่​เสื้อ​คลุม​ยาว​เดิน​อวด​ไป​มา ชอบ​ให้​คน​คำนับ​ใน​ที่​สาธารณะ+ 39  ชอบ​นั่ง​แถว​หน้า​สุด*​ใน​ที่​ประชุม และ​ชอบ​นั่ง​ใน​ที่​ที่​มี​เกียรติ​ที่​สุด​ใน​งาน​เลี้ยง+ 40  พวก​เขา​โกง​เอา​บ้าน*ของ​แม่​ม่าย และ​อธิษฐาน​ยาว ๆ เพื่อ​อวด​คน​อื่น พวก​เขา​จะ​ต้อง​ได้​รับ​โทษ​หนัก​กว่า​คน​ทั่ว​ไป” 41  พระ​เยซู​นั่ง​ลง​ใน​ที่​ที่​มอง​เห็น​ตู้​บริจาค​ได้+ และ​สังเกต​ดู​ผู้​คน​ที่​กำลัง​หยอด​เงิน​ลง​ไป​ใน​ตู้​เหล่า​นั้น คน​รวย ๆ หยอด​เงิน​มาก​มาย​ลง​ไป+ 42  มี​แม่​ม่าย​ยาก​จน​คน​หนึ่ง​มา​หยอด​เงิน​เหรียญ​เล็ก ๆ 2 เหรียญ​ที่​มี​ค่า​น้อย​มาก+ 43  พระ​เยซู​จึง​เรียก​พวก​สาวก​มา​และ​พูด​ว่า “ผม​จะ​บอก​ให้​รู้​ว่า แม่​ม่าย​ยาก​จน​คน​นี้​หยอด​เงินลง​ไป​ใน​ตู้​บริจาค​มาก​กว่า​ทุก​คน+ 44  เพราะ​คน​อื่น​เอา​เงิน​เหลือ​ใช้​มา​บริจาค แต่​แม่​ม่าย​คน​นี้ ถึง​จะ​ยาก​จน​มาก ก็​ยัง​อุตส่าห์​บริจาค​เงิน​ทั้ง​หมด​ที่​เธอ​มี​สำหรับ​เลี้ยง​ชีวิต”+

เชิงอรรถ

หรือ “ราชอาณาจักร”
หรือ “ที่​เด่น​สุด”
หรือ “ทรัพย์​สิน”

ข้อมูลสำหรับศึกษา

ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ: คำ​กรีก พาราบอเล มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “การ​วาง​ไว้​ข้าง​ ๆ (ด้วย​กัน)” อาจ​เป็น​เรื่อง​ราว​ที่​ให้​คติ​สอน​ใจ สุภาษิต หรือ​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ก็​ได้ พระ​เยซู​มัก​อธิบาย​สิ่ง​หนึ่ง​โดย ‘วาง​สิ่ง​นั้น​ไว้​ข้าง​ ๆ’ หรือ​เปรียบ​เทียบ​สิ่ง​นั้น​กับ​อีก​สิ่ง​หนึ่ง​ที่​คล้าย​ ๆ กัน (มก 4:30) ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​ของ​พระ​เยซู​จะ​สั้น​และ​มัก​เป็น​เรื่อง​สมมุติ​ซึ่ง​ช่วย​ให้​ผู้​ฟัง​เข้าใจ​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า​และ​หลัก​ศีลธรรม​ที่​ถูก​ต้อง

หอคอย: ที่​สูง​ที่​ช่วย​ให้​มอง​เห็น​สิ่ง​ที่​อยู่​รอบ​ ๆ ทำ​ให้​ปก​ป้อง​สวน​องุ่น​จาก​ขโมย​และ​สัตว์​ได้—อสย 5:2

ให้​คน​มา​เช่า: นี่​เป็น​เรื่อง​ที่​ชาว​อิสราเอล​ทำ​กัน​เป็น​ปกติ​ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก ใน​ท้อง​เรื่อง​นี้​เจ้า​ของ​สวน​ลง​ทุน​เตรียม​งาน​ไว้​เยอะ​แล้ว จึง​ยิ่ง​มี​เหตุ​ผล​ที่​เขา​จะ​คาด​หมาย​ส่วน​แบ่ง​หรือ​ผล​ตอบ​แทน​จาก​คน​เช่า

หิน​หัว​มุม​หลัก: หรือ “หิน​ที่​สำคัญ​ที่​สุด” คำ​ฮีบรู​ที่​ใช้​ใน สด 118:22 และ​คำ​กรีก​ที่​ใช้​ใน​ข้อ​นี้​มี​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร​ว่า “หัว​มุม” ถึง​แม้​มี​ความ​เข้าใจ​ที่​แตกต่าง​กัน​หลาย​อย่าง แต่​ดู​เหมือน​คำ​นี้​หมาย​ถึง​หิน​ก้อน​บน​สุด​ที่​อยู่​หัว​มุม​ของ​อาคาร​ตรง​จุด​ที่​กำแพง 2 ด้าน​มา​บรรจบ​กัน เป็น​หิน​ก้อน​สำคัญ​ที่​เชื่อม​กำแพง 2 ด้าน​เข้า​ด้วย​กัน พระ​เยซู​ยก​คำ​พยากรณ์​ข้อ​นี้​มา​ใช้​กับ​ตัว​ท่าน​ที่​เป็น “หิน​หัว​มุม​หลัก” เหมือน​กับ​หิน​ก้อน​บน​สุด​ของ​อาคาร​ที่​เห็น​ได้​ชัดเจน พระ​เยซู​คริสต์​ก็​เป็น​ผู้​นำ​ที่​โดด​เด่น​ของ​ประชาคม​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ซึ่ง​เป็น​เหมือน​วิหาร​ของ​พระเจ้า

พระ​คัมภีร์​ข้อ​นี้: คำ​กรีก กราเฟ ใน​ข้อ​นี้​อยู่​ใน​รูป​เอกพจน์​ซึ่ง​หมาย​ถึง​ข้อ​ความ​ตอน​หนึ่ง​ของ​พระ​คัมภีร์​คือ สด 118:22, 23

หิน​หัว​มุม​หลัก: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 21:42

พระ​ยะโฮวา: ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก สด 118:22, 23 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​มี​ชื่อ​ของ​พระเจ้า​เขียน​ด้วย​อักษร​ฮีบรู 4 ตัว (ตรง​กับ​เสียง​อักษร​ไทย ยฮวฮ)

พรรค​พวก​ของ​เฮโรด: ดูส่วน​อธิบาย​ศัพท์

ภาษี: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ภาษี​ราย​หัว” คือ​ภาษี​ประจำ​ปี รัฐบาล​โรมัน​เรียก​เก็บ​ภาษี​แบบ​นี้​จาก​ทุก​คน​ที่​มี​ราย​ชื่อ​ใน​ทะเบียน​สำมะโนครัว อาจ​เท่า​กับ 1 เดนาริอัน หรือ​ค่า​จ้าง​สำหรับ​การ​ทำ​งาน 1 วัน—ลก 2:1-3

ซีซาร์: หรือ “จักรพรรดิ” จักรพรรดิ​โรมัน​ที่​ปกครอง​ช่วง​ที่​พระ​เยซู​ทำ​งาน​รับใช้​บน​โลก​คือ​ทิเบริอัส แต่​คำ​ว่า “ซีซาร์” ไม่​ได้​หมาย​ถึง​จักรพรรดิ​ที่​ปกครอง​เท่า​นั้น คำ​นี้​ยัง​หมาย​ถึง​รัฐบาล​โรมัน​และ​ตัว​แทน​ที่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​ซึ่ง​เปาโล​เรียก​ว่า “คน​ที่​มี​อำนาจ​ปกครอง” และ​เปโตร​เรียก​ว่า “กษัตริย์” และ “ผู้​ว่า​ราชการ” ที่​กษัตริย์​ส่ง​มา—รม 13:1-7; 1ปต 2:13-17; ทต 3:1; ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์

เดนาริอัน: เหรียญ​เงิน​ของ​โรมัน​มี​รูป​ซีซาร์​อยู่​ด้าน​หนึ่ง เหรียญ​นี้​ใช้​จ่าย “ภาษี” ที่​รัฐบาล​โรมัน​เรียก​เก็บ​จาก​ชาว​ยิว (มก 12:14) คน​งาน​ใน​ไร่​นา​สมัย​พระ​เยซู​จะ​ได้​รับ​ค่า​จ้าง 1 เดนาริอัน​สำหรับ​การ​ทำ​งาน 1 วัน​ที่​ยาว 12 ชั่วโมง และ​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​มัก​จะ​ใช้​เดนาริอัน​เป็น​หลัก​ใน​การ​คำ​น​วน​ค่า​เงิน​อื่น ๆ (มธ 20:2; มก 6:37; 14:5; วว 6:6) มี​การ​ใช้​เหรียญ​ทองแดง​และ​เหรียญ​เงิน​หลาย​ชนิด​ใน​อิสราเอล รวม​ทั้ง​เหรียญ​เงิน​ที่​ทำ​จาก​เมือง​ไทระ​ซึ่ง​ใช้​จ่าย​ภาษี​บำรุง​วิหาร แต่​เมื่อ​จ่าย​ภาษี​ต่าง ๆ ให้​รัฐบาล​โรมัน ดู​เหมือน​ว่า​ผู้​คน​จะ​ใช้​เหรียญ​เงิน​เดนาริอัน​ที่​มี​รูป​ซีซาร์—ดูส่วน​อธิบาย​ศัพท์ และภาค​ผนวก ข​14

รูป . . . และ​ชื่อ: ด้าน​หน้า​ของ​เหรียญ​เดนาริอัน​สมัย​นั้น​มี​รูป​จักรพรรดิ​โรมัน​ทิเบริอัส​สวม​มงกุฎ​ใบ​ลอเรล​ซึ่ง​ปกครอง​ตั้ง​แต่​ปี ค.ศ. 14 ถึง 37 และ​มี​คำ​จารึก​ภาษา​ละติน​ว่า “ซีซาร์​ทิเบริอัส ออกัสตัส โอรส​แห่ง​เทพ​ออกัสตัส”—ดู​ภาค​ผนวก ข​14

ให้​กับ: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “คืน​ให้​กับ” ซีซาร์​เป็น​คน​ทำ​เหรียญ​ขึ้น​มา​เขา​จึง​มี​สิทธิ์​เรียก​คืน​เหรียญ​เหล่า​นี้​บาง​ส่วน แต่​ซีซาร์​ไม่​มี​สิทธิ์​เรียก​ร้อง​ให้​ใคร​คน​หนึ่ง​อุทิศ​ชีวิต​ของ​เขา​ให้​ซีซาร์ พระเจ้า​เป็น​ผู้​ให้​มนุษย์​มี “ชีวิต ลม​หายใจ และ​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง” (กจ 17:25) ดัง​นั้น เขา​ต้อง “คืน” ชีวิต​ให้​กับ​พระเจ้า​และ​อุทิศ​ชีวิต​ให้​พระองค์​เท่า​นั้น เพราะ​พระองค์​ผู้​เดียว​มี​สิทธิ์​เรียก​ร้อง​การ​นมัสการ​จาก​เรา

อะไร​ที่​เป็น​ของ​พระเจ้า​ก็​ให้​กับ​พระเจ้า: นี่​รวม​ถึง​การ​นมัสการ​พระเจ้า​สุด​หัวใจ รัก​พระองค์​สุด​ชีวิต และ​เชื่อ​ฟัง​อย่าง​ครบ​ถ้วน​ด้วย​ความ​ภักดี—มธ 4:10; 22:37, 38; กจ 5:29; รม 14:8

ให้​กับ: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 22:21

อะไร​ที่​เป็น​ของ​ซีซาร์​ก็​ให้​กับ​ซีซาร์: คำ​ตอบ​ของ​พระ​เยซู​ใน​ข้อ​นี้​และ​ใน​บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ มธ 22:21 กับ ลก 20:25 เป็น​ครั้ง​เดียว​ที่​มี​การ​บันทึก​ว่า​พระ​เยซู​พูด​ถึง​จักรพรรดิ​โรมัน สำนวน​ที่​ว่า “อะไร​ที่​เป็น​ของ​ซีซาร์” หมาย​ถึง​เงิน​ที่​จ่าย​สำหรับ​บริการ​ต่าง ๆ ที่​ได้​รับ​จาก​รัฐ และ​ยัง​รวม​ถึง​การ​ให้​เกียรติ​และ​ยอม​อยู่​ใต้​อำนาจ​เจ้าหน้าที่​รัฐ​อย่าง​เหมาะ​สม—รม 13:1-7

อะไร​ที่​เป็น​ของ​พระเจ้า​ก็​ให้​กับ​พระเจ้า: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 22:21

สะดูสี: นี่​เป็น​ครั้ง​เดียว​ที่​มี​การ​พูด​ถึง​พวก​สะดูสี​ใน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ของ​มาระโก (ดูส่วน​อธิบาย​ศัพท์) ชื่อ​สะดูสี (คำ​กรีก ซาดดู่ไคออส) อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาโดก (มัก​สะกด​ว่า ซาดโดก ใน​ฉบับ​เซปตัวจินต์) ที่​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​มหา​ปุโรหิต​ใน​สมัย​โซโลมอน และ​ดู​เหมือน​ว่า​ลูก​หลาน​ของ​เขา​ทำ​หน้า​ที่​ปุโรหิต​ต่อ​มา​อีก​หลาย​ศตวรรษ—1พก 2:35

การ​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย: คำ​กรีก อา​นา​ส​ทา​ซิ​ส แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ทำ​ให้​ลุก​ขึ้น, ยืน​ขึ้น” มี​การ​ใช้​คำ​นี้​ประมาณ 40 ครั้ง​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​เพื่อ​พูด​ถึง​การ​ปลุก​คน​ตาย​ให้​ฟื้น (มธ 22:23, 31; กจ 4:2; 24:15; 1คร 15:12, 13) ใน​ฉบับ​เซปตัวจินต์​ที่ อสย 26:19 ซึ่ง​มี​ข้อ​ความ​ว่า “คน​ของ​พวก​เจ้า​ที่​ตาย​แล้ว​จะ​มี​ชีวิต​อีก” มี​การ​ใช้​คำ​กริยา อา​นา​ส​ทา​ซิ​ส เพื่อ​แปล​คำ​กริยา​ฮีบรู “มี​ชีวิต”—ดูส่วน​อธิบาย​ศัพท์

คน​ที่​สอง​จึง​รับ​เธอ​มา​เป็น​ภรรยา: ตาม​ธรรมเนียม​ของ​ชาว​ฮีบรู​โบราณ ถ้า​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​ตาย​โดย​ไม่​มี​ลูก มี​การ​คาด​หมาย​ว่า​พี่​ชาย​หรือ​น้อง​ชาย​ของ​ผู้​ตาย​จะ​ต้อง​รับ​ภรรยา​ม่าย​ของ​เขา​มา​เป็น​ภรรยา​เพื่อ​จะ​มี​ลูก​ไว้​สืบ​สกุล​ให้​ผู้​ที่​ตาย​ไป (ปฐก 38:8) ต่อ​มา​มี​การ​รวม​ธรรมเนียม​นี้​ไว้​ใน​กฎหมาย​ของ​โมเสส (ฉธบ 25:5, 6) คำ​พูด​ของ​พวก​สะดูสี​ใน​ข้อ​นี้​แสดง​ว่า​การ​รับ​ภรรยา​ม่าย​ของ​พี่​ชาย​หรือ​น้อง​ชาย​มา​เป็น​ภรรยา​ยัง​เป็น​ธรรมเนียม​ที่​ทำ​กัน​ใน​สมัย​พระ​เยซู กฎหมาย​ของ​โมเสส​ยอม​ให้​ญาติ​ปฏิเสธ​การ​แต่งงาน​แบบ​นี้​ได้ แต่​ถ้า​ผู้​ชาย​คน​ไหน​ไม่​ทำ​หน้า​ที่​ของ​เขา​เพื่อ “ให้​พี่​น้อง​ของ​ตัว​เอง​มี​ลูก​ไว้​สืบ​สกุล” เขา​ก็​ทำ​ให้​ตัว​เอง​อับอาย—ฉธบ 25:7-10; นรธ 4:7, 8

พระ​คัมภีร์: มัก​มี​การ​ใช้​คำ​นี้​เพื่อ​หมาย​ถึง​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ทั้ง​หมด​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ

ใน​หนังสือ​ของ​โมเสส: พวก​สะดูสี​ยอม​รับ​ว่า​เฉพาะ​หนังสือ​ที่​โมเสส​เขียน​เท่า​นั้น​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า พวก​เขา​ไม่​ยอม​รับ​คำ​สอน​ของ​พระ​เยซู​เรื่อง​การ​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​เพราะ​อาจ​คิด​ว่า​คำ​สอน​นั้น​ไม่​ได้​มี​พื้น​ฐาน​มา​จาก​เพนทาทุก​ซึ่ง​เป็น​หนังสือ​ที่​โมเสส​เขียน ที่​จริง พระ​เยซู​สามารถ​ยก​ข้อ​คัมภีร์​หลาย​ข้อ​เพื่อ​พิสูจน์​ว่า​คน​ตาย​จะ​ฟื้น​ขึ้น​มา​ได้ เช่น อสย 26:19, ดนล 12:13 และ ฮชย 13:14 แต่​เพราะ​พระ​เยซู​รู้​ว่า​พวก​สะดูสี​ยอม​รับ​ข้อ​เขียน​ของ​โมเสส ท่าน​จึง​ยก​คำ​พูด​ที่​พระ​ยะโฮวา​พูด​กับ​โมเสส​มา​พิสูจน์​เรื่อง​นี้—อพย 3:2, 6

ที่​พระเจ้า​บอก​โมเสส​ว่า: ใน​ข้อ​นี้​พระ​เยซู​พูด​ถึง​การ​พูด​คุย​กัน​ระหว่าง​พระ​ยะโฮวา​กับ​โมเสส​ซึ่ง​เกิด​ขึ้น​เมื่อ​ประมาณ​ปี 1514 ก่อน ค.ศ. (อพย 3:2, 6) ตอน​นั้น อับราฮัม​ตาย​ไป​แล้ว 329 ปี อิสอัค​ตาย​ไป​แล้ว 224 ปี และ​ยาโคบ​ก็​ตาย​ไป​แล้ว 197 ปี ถึง​อย่าง​นั้น พระ​ยะโฮวา​ก็​ไม่​ได้​บอก​ว่า ‘เรา​เคย​เป็น​พระเจ้า​ของ​พวก​เขา’ แต่​บอก​ว่า ‘เรา​เป็น​พระเจ้า​ของ​พวก​เขา’—ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มก 12:27

แต่​เป็น​พระเจ้า​ของ​คน​เป็น: ใน​บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ ลก 20:38 พระ​เยซู​ยัง​พูด​อีก​ว่า “เพราะ​พระองค์​มอง​ว่า​พวก​เขา​ทุก​คน​มี​ชีวิต​อยู่” คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คน​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​แต่​ไม่​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​ก็​เป็น​เหมือน​คน​ตาย​ใน​สายตา​พระองค์ (อฟ 2:1; 1ทธ 5:6) ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม คน​ที่​รับใช้​พระเจ้า​และ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​ใจ ถึง​แม้​เขา​ตาย​แล้ว​พระองค์​ก็​มอง​ว่า​เขา​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ เพราะ​พระองค์​จะ​ปลุก​เขา​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​อย่าง​แน่นอน—รม 4:16, 17

แต่​เป็น​พระเจ้า​ของ​คน​เป็น: ใน​บันทึก​เหตุ​การณ์​เดียว​กัน​ที่ ลก 20:38 พระ​เยซู​ยัง​พูด​อีก​ว่า “เพราะ​พระองค์​มอง​ว่า​พวก​เขา​ทุก​คน​มี​ชีวิต​อยู่” คัมภีร์​ไบเบิล​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คน​ที่​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่​แต่​ไม่​มี​ความ​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​ก็​เป็น​เหมือน​คน​ตาย​ใน​สายตา​พระองค์ (อฟ 2:1; 1ทธ 5:6) ใน​ทาง​ตรง​กัน​ข้าม คน​ที่​รับใช้​พระเจ้า​และ​ทำ​ให้​พระองค์​พอ​ใจ ถึง​แม้​เขา​ตาย​แล้ว​พระองค์​ก็​มอง​ว่า​เขา​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ เพราะ​พระองค์​จะ​ปลุก​เขา​ให้​ฟื้น​ขึ้น​จาก​ตาย​อย่าง​แน่นอน—รม 4:16, 17

ชาว​อิสราเอล ฟัง​ให้​ดี: ทั้ง​มัทธิว มาระโก และ​ลูกา​ต่าง​ก็​ยก​คำ​พูด​จาก ฉธบ 6:4, 5 แต่​มาระโก​ยก​ข้อ​ความ​มา​ยาว​กว่า และ​ส่วน​ที่​เพิ่ม​เข้า​มา​มี​ข้อ​ความ​เหมือน​กับ​ประโยค​เริ่ม​ต้น​บท​สวด​ยืน​ยัน​ความ​เชื่อ​ของ​ชาว​ยิว​ที่​เรียก​ว่า​เชมา บท​สวด​นี้​มา​จาก ฉธบ 6:4-9; 11:13-21 คำ​ว่า “เชมา” เป็น​คำ​แรก​ของ​บท​สวด​นี้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​และ​มี​ความ​หมาย​ว่า “ฟัง​ให้​ดี!”

พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​ของ​เรา และ​พระ​ยะโฮวา​มี​เพียง​องค์​เดียว​เท่า​นั้น: ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก ฉธบ 6:4 ใน​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ฮีบรู คำ​ว่า “องค์​เดียว” ใน​ข้อ​นี้​บอก​ให้​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​มี​เพียง​หนึ่ง​เดียว ไม่​มี​ใคร​เหมือน​กับ​พระองค์ พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​เที่ยง​แท้​องค์​เดียว ไม่​มี​พระ​เท็จ​องค์​ไหน​จะ​เทียบ​พระองค์​ได้ (2ซม 7:22; สด 96:5; อสย 2:18-20) ใน​หนังสือ​เฉลย​ธรรมบัญญัติ โมเสส​เตือน​ชาว​อิสราเอล​ว่า​พวก​เขา​ต้อง​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​องค์​เดียว พวก​เขา​ต้อง​ไม่​ทำ​ตาม​ชน​ชาติ​รอบ​ข้าง​ที่​นมัสการ​พระ​เท็จ​มาก​มาย ซึ่ง​พระ​เหล่า​นั้น​อาจ​เป็น​เทพเจ้า​หรือ​เทพ​ธิดา​ที่​ควบคุม​ธรรมชาติ​บาง​อย่าง​ได้ หรือ​เป็น​พระ​ที่​มี​หลาย​รูป​ลักษณ์ นอก​จาก​นั้น คำ​ฮีบรู “องค์​เดียว” ยัง​บอก​ให้​รู้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เป็น​แบบ​เดียว​มา​ตลอด​และ​ไม่​เคย​เปลี่ยน​แปลง เรา​สามารถ​วางใจ​การ​กระทำ​และ​ความ​ประสงค์​ของ​พระองค์​ได้ พระองค์​ซื่อ​สัตย์ เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย ภักดี และ​พูด​ความ​จริง​เสมอ คำ​พูด​ที่​บันทึก​ใน มก 12:28-34 เป็น​ข้อ​ความ​ที่​มัทธิว​ก็​บัน​ทึก​ไว้​ด้วย ซึ่ง​อยู่​ใน มธ 22:34-40 แต่​มาระโก​เป็น​คน​เดียว​ที่​ยก​ข้อ​ความ​ตอน​ต้น​ขึ้น​มา​ที่​ว่า “ชาว​อิสราเอล ฟัง​ให้​ดี พระ​ยะโฮวา​เป็น​พระเจ้า​ของ​เรา และ​พระ​ยะโฮวา​มี​เพียง​องค์​เดียว​เท่า​นั้น” การ​มี​คำ​สั่ง​ให้​รัก​พระ​ยะโฮวา​ต่อ​จาก​ประโยค​นี้​แสดง​ว่า​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ต้อง​รัก​พระองค์​ผู้​เดียว​เท่า​นั้น​โดย​ไม่​แบ่ง​ใจ​ให้​พระ​อื่น

พระ​ยะโฮวา . . . พระ​ยะโฮวา: ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก ฉธบ 6:4 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​มี​ชื่อ​ของ​พระเจ้า 2 ครั้ง​ที่​เขียน​ด้วย​อักษร​ฮีบรู 4 ตัว (ตรง​กับ​เสียง​อักษร​ไทย ยฮวฮ)

หัวใจ . . . ชีวิต . . . กำลัง . . . ความ​คิด: ใน​ข้อ​นี้​ผู้​ชาย​ที่​เชี่ยวชาญ​กฎหมาย​ของ​โมเสส​ยก​ข้อ​ความ​จาก ฉธบ 6:5 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​ใช้​คำ 3 คำ​คือ หัวใจ ชีวิต และ​กำลัง แต่​ใน​บันทึก​ของ​ลูกา​ซึ่ง​เขียน​เป็น​ภาษา​กรีก​ผู้​ชาย​คน​นี้​ใช้​คำ 4 คำ​คือ หัวใจ ชีวิต กำลัง และ​ความ​คิด คำ​ตอบ​ของ​ผู้​ชาย​คน​นี้​แสดง​ว่า​ใน​สมัย​พระ​เยซู​คน​ทั่ว​ไป​ยอม​รับ​ว่า​คำ​กรีก 4 คำ​นี้​มี​ความ​หมาย​เท่า​กับ​คำ​ฮีบรู 3 คำ​ใน​ข้อ​ความ​ดั้งเดิม—สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มก 12:30

ความ​คิด: หมาย​ถึง​ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​สติ​ปัญญา​และ​ความ​คิด คน​เรา​ต้อง​ใช้​ความ​สามารถ​นี้​เพื่อ​จะ​รู้​จัก​และ​รัก​พระเจ้า (ยน 17:3; รม 12:1) ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก ฉธบ 6:5 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​ใช้ 3 คำ​คือ ‘หัวใจ, ชีวิต, กำลัง’ แต่​บันทึก​ของ​มัทธิว​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ใช้​คำ​ว่า “ความ​คิด” แทน “กำลัง” ซึ่ง​อาจ​มี​เหตุ​ผล​บาง​อย่าง เหตุ​ผล​แรก ใน​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ​ไม่​มี​คำ​เฉพาะ​สำหรับ​คำ​ว่า “ความ​คิด” แต่​แนว​คิด​ของ​คำ​นี้​แฝง​อยู่​ใน​คำ​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “หัวใจ” และ​คำ​ว่า “หัวใจ” เมื่อ​ใช้​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย​จะ​หมาย​ถึง​ความ​คิด ความ​รู้สึก ทัศนะ และ​แรง​กระตุ้น​ของ​คน​เรา (ฉธบ 29:4; สด 26:2; 64:6 ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า​หัวใจ​ใน​ข้อ​นี้) ดัง​นั้น เมื่อ​ข้อ​ความ​ฮีบรู​ใช้​คำ​ว่า “หัวใจ” ฉบับ​เซปตัวจินต์ ภาษา​กรีก​ก็​มัก​จะ​แปล​คำ​นี้​โดย​ใช้​คำ​ว่า “ความ​คิด” (ปฐก 8:21; 17:17; สภษ 2:10; อสย 14:13) อีก​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​มัทธิว​ใช้​คำ​กรีก “ความ​คิด” แทน​คำ​ว่า “กำลัง” เมื่อ​ยก​ข้อ​ความ​จาก ฉธบ 6:5 อาจ​เป็น​เพราะ คำ​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “กำลัง” หมาย​ถึง​ทั้ง​กำลัง​ทาง​ร่าง​กาย และ​ยัง​หมาย​ถึง​ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​สติ​ปัญญา​หรือ​ความ​คิด​ได้​ด้วย ไม่​ว่า​เหตุ​ผล​จะ​เป็น​อย่าง​ไร การ​ที่​คำ​ฮีบรู​และ​กรีก​มี​ความ​หมาย​คาบเกี่ยว​กัน​แบบ​นี้​อาจ​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​ทำไม​ตอน​ที่​ยก​ข้อ​ความ​จาก​เฉลย​ธรรมบัญญัติ​ขึ้น​มา ผู้​เขียน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ถึง​ไม่​ใช้​คำ​เดียว​กับ​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มก 12:30; ลก 10:27

พระ​ยะโฮวา: ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก ฉธบ 6:5 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​มี​ชื่อ​ของ​พระเจ้า​เขียน​ด้วย​อักษร​ฮีบรู 4 ตัว (ตรง​กับ​เสียง​อักษร​ไทย ยฮวฮ)

หัวใจ: เมื่อ​ใช้​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย คำ​นี้​มัก​หมาย​ถึง​ตัว​ตน​ทั้ง​หมด​ของ​คน​เรา แต่​เมื่อ​ใช้​ด้วย​กัน​กับ​คำ​ว่า “ชีวิต” และ “ความ​คิด” คำ​นี้​ดู​เหมือน​มี​ความ​หมาย​ที่​เจาะจง​มาก​ขึ้น คือ​หมาย​ถึง​อารมณ์ ความ​รู้สึก และ​ความ​ต้องการ​ของ​คน​เรา คำ 4 คำ​ที่​ใช้​ใน​ข้อ​นี้ (หัวใจ, ชีวิต, ความ​คิด, กำลัง) ไม่​ได้​มี​ความ​หมาย​แยก​จาก​กัน​อย่าง​เด็ดขาด แต่​มี​ความ​หมาย​คาบเกี่ยว​กัน การ​ใช้ 4 คำ​นี้​ด้วย​กัน​เป็น​การ​เน้น​อย่าง​หนักแน่น​ที่​สุด​ว่า​คน​เรา​ต้อง​รัก​พระเจ้า​อย่าง​เต็ม​ที่​และ​ครบ​ถ้วน—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า​ความ​คิด​และ​กำลัง​ใน​ข้อ​นี้

ความ​คิด: หมาย​ถึง​ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​สติ​ปัญญา​และ​ความ​คิด คน​เรา​ต้อง​ใช้​ความ​สามารถ​นี้​เพื่อ​จะ​รู้​จัก​และ​รัก​พระเจ้า (ยน 17:3; รม 12:1) ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก ฉธบ 6:5 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​ใช้ 3 คำ​คือ ‘หัวใจ, ชีวิต, กำลัง’ แต่​บันทึก​ของ​มาระโก​ซึ่ง​เขียน​เป็น​ภาษา​กรีก​ใช้ 4 คำ​คือ หัวใจ, ชีวิต, ความ​คิด, กำลัง การ​ทำ​อย่าง​นี้​อาจ​มี​เหตุ​ผล​บาง​อย่าง เช่น คำ​ว่า “ความ​คิด” อาจ​ถูก​เพิ่ม​เข้า​มา​เพื่อ​จะ​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​คำ 3 คำ​ใน​ภาษา​ฮีบรู​ได้​อย่าง​ครบ​ถ้วน ถึง​แม้​ใน​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ​ไม่​มี​คำ​เฉพาะ​สำหรับ​คำ​ว่า “ความ​คิด” แต่​แนว​คิด​ของ​คำ​นี้​มัก​จะ​แฝง​อยู่​ใน​คำ​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “หัวใจ” และ​คำ​ว่า “หัวใจ” เมื่อ​ใช้​ใน​ความ​หมาย​เป็น​นัย​จะ​หมาย​ถึง​ความ​คิด ความ​รู้สึก ทัศนะ และ​แรง​กระตุ้น​ของ​คน​เรา (ฉธบ 29:4; สด 26:2; 64:6; ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า​หัวใจ​ใน​ข้อ​นี้) ดัง​นั้น เมื่อ​ข้อ​ความ​ฮีบรู​ใช้​คำ​ว่า “หัวใจ” ฉบับ​เซปตัวจินต์​ภาษา​กรีก​ก็​มัก​จะ​แปล​คำ​นี้​โดย​ใช้​คำ​ว่า “ความ​คิด” (ปฐก 8:21; 17:17; สภษ 2:10; อสย 14:13) นอก​จาก​นั้น การ​ที่​มาระโก​ใช้​คำ​ว่า​ความ​คิด​อาจ​ช่วย​ให้​เห็น​ว่า​คำ​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “กำลัง” ก็​มี​ความ​หมาย​คาบเกี่ยว​กับ​คำ​กรีก​ที่​แปล​ว่า “ความ​คิด” ด้วย (เทียบ​กับ มธ 22:37 ที่​ใช้​คำ​ว่า “ความ​คิด” แทน​คำ​ว่า “กำลัง”) การ​ที่​คำ​ฮีบรู​และ​กรีก​มี​ความ​หมาย​คาบเกี่ยว​กัน​แบบ​นี้​อาจ​ช่วย​ให้​รู้​ว่า​ทำไม​ครู​สอน​ศาสนา​จึง​พูด​กับ​พระ​เยซู​โดย​ใช้​คำ​ว่า “ความ​เข้าใจ” (มก 12:33, พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์​ฉบับ​อมตธรรม​ร่วม​สมัย ) และ​ทำไม​ผู้​เขียน​หนังสือ​ข่าว​ดี​ถึง​ไม่​ใช้​คำ​เดียว​กับ​ข้อ​ความ​ใน ฉธบ 6:5—ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า​กำลัง​ใน​ข้อ​นี้ และข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 22:37; ลก 10:27

กำลัง: อย่าง​ที่​บอก​ใน​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​คำ​ว่า​ความ​คิด ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก ฉธบ 6:5 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​ใช้ 3 คำ​คือ ‘หัวใจ, ชีวิต, กำลัง’ คำ​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “กำลัง” อาจ​หมาย​ถึง​ทั้ง​กำลัง​ทาง​ร่าง​กาย​และ​หมาย​ถึง​ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​สติ​ปัญญา​หรือ​ความ​คิด​ด้วย นี่​อาจ​เป็น​อีก​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ทำไม​มาระโก​เพิ่ม​คำ​ว่า “ความ​คิด” เข้า​ไป​ตอน​ที่​ยก​ข้อ​ความ​จาก​เฉลย​ธรรมบัญญัติ​มา​ใส่​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก และ​อาจ​เป็น​เหตุ​ผล​ที่ มธ 22:37 ใช้​คำ​ว่า “ความ​คิด” แทน​ที่​จะ​ใช้​คำ​ว่า “กำลัง” เมื่อ​ยก​ข้อ​ความ​จาก​เฉลย​ธรรมบัญญัติ แต่​ไม่​ว่า​เหตุ​ผล​จะ​เป็น​อย่าง​ไร ตอน​ที่​ครู​สอน​ศาสนา (ตาม​บันทึก​ใน​หนังสือ​ลูกา [10:27] ซึ่ง​เขียน​เป็น​ภาษา​กรีก) ยก​ข้อ​ความ​ฮีบรู​เดียว​กัน​นี้​ขึ้น​มา เขา​ใช้ 4 คำ​คือ หัวใจ, ชีวิต, กำลัง, ความ​คิด นี่​อาจ​แสดง​ว่า​ใน​สมัย​พระ​เยซู​คน​ทั่ว​ไป​ยอม​รับ​ว่า​คำ​กรีก 4 คำ​นี้​มี​ความ​หมาย​เท่า​กับ​คำ​ฮีบรู 3 คำ​ใน​ข้อ​ความ​ดั้งเดิม

คน​อื่น: หรือ “เพื่อน​บ้าน” คำ​กรีก​นี้ (แปล​ตรง​ตัว​ว่า “คน​ที่​อยู่​ใกล้”) ไม่​ได้​หมาย​ถึง​คน​ที่​อยู่​บ้าน​ใกล้​เรือน​เคียง​เท่า​นั้น แต่​ยัง​หมาย​ถึง​ทุก​คน​ที่​ติด​ต่อ​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย—ลก 10:29-37; รม 13:8-10; ดู​ข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 5:43

ข้อ​ที่​สอง: ที่ มก 12:29, 30 มี​คำ​พูด​ของ​พระ​เยซู​ที่​ตอบ​คำ​ถาม​ของ​ครู​สอน​ศาสนา แต่​ใน​ข้อ​นี้​ท่าน​ตอบ​มาก​กว่า​ที่​เขา​ถาม​โดย​พูด​ถึง​กฎหมาย​ข้อ​ที่ 2 ด้วย (ลนต 19:18) ท่าน​เน้น​ว่า “กฎหมาย​สอง​ข้อ​นี้” เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​แยก​ไม่​ออก และ​เป็น​พื้น​ฐาน​ของ​กฎหมาย​โมเสส​ทั้ง​หมด​และ​เป็น​พื้น​ฐาน​ของ​สิ่ง​ที่​พวก​ผู้​พยากรณ์​สอน—มธ 22:40

คน​อื่น: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 22:39

เครื่อง​บูชา​เผา: คำ​กรีก ฮอลอเคาโทมา (มา​จาก​คำ ฮอ​ลอส แปล​ว่า “ทั้ง​หมด” และ ไค​โอ แปล​ว่า “เผา”) มี​แค่ 3 ครั้ง​ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก คือ​ใน​ข้อ​นี้​และ​ที่ ฮบ 10:6, 8 พระ​คัมภีร์​ฉบับ​เซปตัวจินต์​ใช้​คำ​กรีก​นี้​เพื่อ​แปล​คำ​ฮีบรู​ที่​หมาย​ถึง​เครื่อง​บูชา​สัตว์​ที่​ถูก​เผา​ทั้ง​ตัว​เพื่อ​ถวาย​ให้​พระเจ้า โดย​ไม่​มี​ส่วน​ไหน​ที่​ผู้​นมัสการ​กิน คำ​กรีก​นี้​มี​อยู่​ใน​ฉบับ​เซปตัวจินต์​ที่ 1ซม 15:22 และ ฮชย 6:6 ครู​สอน​ศาสนา​อาจ​คิด​ถึง​ข้อ​คัมภีร์ 2 ข้อ​นี้​ตอน​ที่​พูด​กับ​พระ​เยซู (มก 12:32) พระ​เยซู​เป็น​เหมือน “เครื่อง​บูชา​เผา” เพราะ​ท่าน​ถวาย​ตัว​ท่าน​ทั้ง​หมด​ให้​กับ​พระ​ยะโฮวา

พระ​ยะโฮวา: ข้อ​ความ​นี้​ยก​มา​จาก สด 110:1 ซึ่ง​ใน​ต้น​ฉบับ​ภาษา​ฮีบรู​มี​ชื่อ​ของ​พระเจ้า​เขียน​ด้วย​อักษร​ฮีบรู 4 ตัว (ตรง​กับ​เสียง​อักษร​ไทย ยฮวฮ)

ที่​สาธารณะ: หรือ “ตลาด” คำ​กรีก อากอรา ใน​ข้อ​นี้​หมาย​ถึง​ลาน​ที่​ใช้​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​ซื้อ​ขาย และ​เป็น​ที่​ชุมนุม​ของ​ชาว​เมืองใน​ประเทศ​แถบ​ตะวัน​ออก​กลาง​สมัย​โบราณ และ​ใน​ดินแดน​ที่​กรีก​และ​โรม​ปกครอง

นั่ง​แถว​หน้า​สุด: หรือ “นั่ง​ใน​ที่​นั่ง​ที่​ดี​ที่​สุด” ดู​เหมือน​ว่า​หัวหน้า​ที่​ประชุม​ของ​ชาว​ยิว​และ​แขก​คน​สำคัญ​จะ​นั่ง​ใกล้​กับ​ม้วน​หนังสือ​พระ​คัมภีร์ ซึ่ง​เป็น​ที่​ที่​ทุก​คน​มอง​เห็น ที่​นั่ง​ที่​มี​เกียรติ​แบบ​นี้​อาจ​เป็น​ที่​เฉพาะ​สำหรับ​คน​สำคัญ​เหล่า​นี้

นั่ง​แถว​หน้า​สุด: ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 23:6

วิหาร: หรือ “คลัง​ศักดิ์สิทธิ์” คำ​นี้​อาจ​หมาย​ถึง​บริเวณ​หนึ่ง​ของ​วิหาร​ที่​มี “ตู้​บริจาค” ตั้ง​อยู่​ตาม​ที่ ยน 8:20 บอก​ไว้ และ​บริเวณ​นี้​น่า​จะ​อยู่​ใน​ลาน​สำหรับ​ผู้​หญิง ซึ่ง​มี​ตู้​บริจาค​อยู่ 13 ตู้ (ดู​ภาค​ผนวก ข​11) เชื่อ​กัน​ว่า​ใน​วิหาร​ยัง​มี​บริเวณ​หนึ่ง​ที่​ใช้​เก็บ​รวบ​รวม​เงิน​ทั้ง​หมด​จาก​ตู้​บริจาค​ด้วย

ตู้​บริจาค: แหล่ง​อ้างอิง​ของ​ชาว​ยิว​โบราณ​บอก​ว่า​ตู้​บริจาค​หรือ​ที่​ใส่​เงิน​ถวาย​นี้​มี​รูป​ร่าง​คล้าย​แตร​และ​มี​ช่อง​เล็ก ๆ ด้าน​บน​ให้​หยอด​เงิน​ลง​ไป ผู้​คน​จะ​ใส่​เงิน​ถวาย​สำหรับ​หลาย​อย่าง​ลง​ไป​ใน​ตู้​นี้ ใน​บันทึก​ที่ ยน 8:20 ก็​ใช้​คำ​กรีก​เดียว​กัน​นี้​เมื่อ​พูด​ถึง​ตู้​บริจาค​ซึ่ง​ดู​เหมือน​ว่า​ตั้ง​อยู่​ใน​ลาน​สำหรับ​ผู้​หญิง (ดูข้อมูล​สำหรับ​ศึกษา​ที่ มธ 27:6 และภาค​ผนวก ข​11) แหล่ง​อ้างอิง​ของ​พวก​รับบี​บอก​ว่า มี​ตู้​บริจาค 13 ตู้​ตั้ง​อยู่​เป็น​แถว​ตาม​ผนัง​รอบ​ลาน​นี้ เชื่อ​กัน​ว่า​ใน​วิหาร​ยัง​มี​บริเวณ​หนึ่ง​ที่​ใช้​เก็บ​รวบ​รวม​เงิน​ทั้ง​หมด​จาก​ตู้​บริจาค​เหล่า​นี้​ด้วย

เงิน: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ทองแดง” คือ​เหรียญ​ที่​ทำ​จาก​ทองแดง แต่​คำ​กรีก​นี้​อาจ​ใช้​ใน​ความ​หมาย​กว้าง ๆ หมาย​ถึง​เงิน​ทุก​ชนิด​ด้วย—ดูภาค​ผนวก ข​14

เหรียญ​เล็ก ๆ 2 เหรียญ: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “2 เลฟตัน” คำ​กรีก​เลฟตัน​เป็น​รูป​พหูพจน์​ของ​คำ​ว่า เล็พทอส หมาย​ถึง​สิ่ง​ที่​เล็ก​และ​บาง เลฟตัน​เป็น​เหรียญ​ซึ่ง​มี​ค่า​เท่า​กับ 1/128 ของ 1 เดนาริอัน และ​ดู​เหมือน​ว่า​เป็น​เหรียญ​ทองแดง​หรือ​ทอง​สัมฤทธิ์​ที่​เล็ก​ที่​สุด​ซึ่ง​ใช้​ใน​อิสราเอล—ดู​ส่วน​อธิบาย​ศัพท์​คำ​ว่า “เลฟตัน” และภาค​ผนวก ข​14

ที่​มี​ค่า​น้อย​มาก: แปล​ตรง​ตัว​ว่า “ซึ่ง​เท่า​กับ 1 โคดรันเทส” คำ​กรีก คอด​ราน​เทส (มา​จาก​คำ​ละติน quadrans) หมาย​ถึง​เหรียญ​ของ​โรมัน​ที่​ทำ​จาก​ทองแดง​หรือ​ทอง​สัมฤทธิ์​ซึ่ง​มี​ค่า​เท่า​กับ 1/64 ของ 1 เดนาริอัน ใน​ข้อ​นี้​มาระโก​ใช้​เงิน​ของ​โรมัน​เพื่อ​อธิบาย​ค่า​ของ​เงิน​เหรียญ​ที่​ชาว​ยิว​ใช้​กัน​ทั่ว​ไป—ดูภาค​ผนวก ข​14

วีดีโอและรูปภาพ

บ่อ​ย่ำ​องุ่น
บ่อ​ย่ำ​องุ่น

ใน​อิสราเอล​มี​การ​เก็บ​องุ่น​ใน​ช่วง​เดือน​สิงหาคม​และ​กันยายน​ขึ้น​อยู่​กับ​พันธุ์​ของ​องุ่น​และ​สภาพ​อากาศ​ใน​เขต​นั้น ปกติ​แล้ว​จะ​มี​การ​เอา​องุ่น​ที่​เก็บ​ได้​มา​ใส่​ใน​บ่อ​หินปูน​หรือ​ราง​ที่​เกิด​จาก​การ​สกัด​หิน​เป็น​ร่อง คน​ที่​ย่ำ​องุ่น​มัก​จะ​ใช้​เท้า​เปล่า​ย่ำ​องุ่น​และ​ร้อง​เพลง​ไป​ด้วย—อสย 16:10; ยรม 25:30; 48:33

1. องุ่น​ที่​เก็บ​มา​ใหม่ ๆ

2. บ่อ​ย่ำ​องุ่น

3. ช่อง​ระบาย​น้ำ​องุ่น

4. อ่าง​พัก​น้ำ​องุ่น​ที่​อยู่​ต่ำ​ลง​ไป

5. ไห​ดิน​เหนียว​ใส่​เหล้า​องุ่น

ซีซาร์​ทิเบริอัส
ซีซาร์​ทิเบริอัส

ทิเบริอัส​เกิด​ใน​ปี 42 ก่อน ค.ศ. เขา​ขึ้น​เป็น​จักรพรรดิ​องค์​ที่ 2 ของ​โรม​ใน​ปี ค.ศ. 14 ทิเบริอัส​ตาย​ใน​เดือน​มีนาคม​ปี ค.ศ. 37 เขา​เป็น​จักรพรรดิ​ตลอด​ช่วง​ที่​พระ​เยซู​ทำ​งาน​รับใช้ ดัง​นั้น ตอน​ที่​พระ​เยซู​พูด​ถึง​เหรียญ​ที่​ใช้​เสีย​ภาษี​ว่า “อะไร​ที่​เป็น​ของ​ซีซาร์​ก็​ให้​กับ​ซีซาร์” ซีซาร์​ที่​พระ​เยซู​พูด​ถึง​ก็​คือ​ทิเบริอัส—มก 12:14-17; มธ 22:17-21; ลก 20:22-25

ตลาด
ตลาด

ตลาด​บาง​แห่ง​ตั้ง​อยู่​ริม​ถนน​เหมือน​ใน​รูป​นี้ พ่อค้า​แม่​ค้า​มัก​จะ​เอา​สินค้า​มา​วาง​ริม​ถนน​จน​กีด​ขวาง​ทาง​เดิน ชาว​บ้าน​จะ​มา​ซื้อ​ข้าว​ของ​เครื่อง​ใช้ ถ้วย​ชาม​ดิน​เผา และ​เครื่อง​แก้ว​ราคา​แพง รวม​ทั้ง​ของ​สด​ต่าง ๆ ด้วย เนื่อง​จาก​ใน​สมัย​นั้น​ไม่​มี​ตู้​เย็น ผู้​คน​จึง​ต้อง​ไป​ซื้อ​อาหาร​ที่​ตลาด​ทุก​วัน คน​ที่​มา​ซื้อ​ของ​ที่​ตลาด​จะ​ได้​ยิน​ข่าว​ต่าง ๆ จาก​พวก​พ่อค้า​หรือ​คน​ที่​มา​จาก​เมือง​อื่น เด็ก ๆ จะ​เล่น​กัน​ที่​นั่น คน​ที่​ตก​งาน​ก็​จะ​มา​รอ​คน​จ้าง พระ​เยซู​เคย​รักษา​คน​ป่วย​และ​เปาโล​ก็​เคย​ประกาศ​ที่​ตลาด (กจ 17:17) แต่​พวก​ครู​สอน​ศาสนา​และ​ฟาริสี​ที่​เย่อหยิ่ง​ชอบ​เป็น​จุด​สนใจ​และ​ให้​คน​มา​ทักทาย​ใน​ที่​สาธารณะ​แบบ​นี้

ที่​นั่ง​ที่​มี​เกียรติ​ใน​งาน​เลี้ยง
ที่​นั่ง​ที่​มี​เกียรติ​ใน​งาน​เลี้ยง

ใน​ศตวรรษ​แรก ปกติ​แล้ว​ผู้​คน​จะ​นั่ง​เอน​ตัว​ที่​โต๊ะ​เพื่อ​กิน​อาหาร แต่​ละ​คน​จะ​เอา​ศอก​ซ้าย​ยัน​หมอน​อิง​ไว้​และ​กิน​อาหาร​โดย​ใช้​มือ​ขวา ตาม​ธรรมเนียม​ของ​กรีก​และ​โรมัน​ห้อง​อาหาร​โดย​ทั่ว​ไป​จะ​มี​เก้าอี้​ยาว 3 ตัว​ตั้ง​อยู่​รอบ​โต๊ะ​อาหาร​เตี้ย ๆ ชาว​โรมัน​เรียก​ห้อง​อาหาร​แบบ​นี้​ว่า ไตรคลิเนียม (คำ​ละติน​ที่​มา​จาก​คำ​กรีก​ซึ่ง​มี​ความ​หมาย​ว่า “ห้อง​ที่​มี​เก้าอี้​ยาว 3 ตัว”) แม้​ตาม​ปกติ​แล้ว​การ​ตั้ง​เก้าอี้​แบบ​นี้​จะ​นั่ง​ได้ 9 คน โดย​นั่ง​ตัว​ละ 3 คน แต่​เพื่อ​จะ​รับรอง​คน​ได้​มาก​ขึ้น​ก็​อาจ​ใช้​เก้าอี้​ที่​ยาว​ขึ้น​ได้ เชื่อ​กัน​ว่า​ที่​นั่ง​แต่​ละ​ที่​ใน​ห้อง​อาหาร​บ่ง​บอก​ถึง​ฐานะ​หรือ​เกียรติ​ของ​คน​คน​นั้น เก้าอี้​ยาว​ตัว​หนึ่ง​สำหรับ​คน​ที่​มี​เกียรติ​น้อย​ที่​สุด (ก) อีก​ตัว​หนึ่ง​อยู่​ตรง​กลาง (ข) และ​อีก​ตัว​ไว้​สำหรับ​คน​ที่​มี​เกียรติ​มาก​ที่​สุด (ค) ตำแหน่ง​ที่​นั่ง​บน​เก้าอี้​ยาว​แต่​ละ​ตัว​ก็​มี​ความ​สำคัญ​แตกต่าง​กัน​ด้วย คน​ที่​นั่ง​ข้าง​ซ้าย​จะ​มี​เกียรติ​มาก​กว่า​คน​ที่​นั่ง​ข้าง​ขวา​ของ​เขา แต่​ถ้า​งาน​เลี้ยง​นั้น​เป็น​งาน​เลี้ยง​แบบ​เป็น​ทาง​การ เจ้าภาพ​มัก​จะ​นั่ง​อยู่​ตรง​ที่​นั่ง​แรก (หมาย​เลข 1) บน​เก้าอี้​ยาว​ที่​มี​เกียรติ​น้อย​ที่​สุด ส่วน​แขก​ที่​สำคัญ​ที่​สุด (หมาย​เลข 2) จะ​ได้​นั่ง​ติด​กับ​เจ้า​ภาพ​บน​เก้าอี้​ยาว​ที่​อยู่​ตรง​กลาง ถึง​แม้​เรา​ไม่​รู้​แน่ชัด​ว่า​ชาว​ยิว​เอา​ธรรมเนียม​นี้​ไป​ใช้​มาก​ขนาด​ไหน แต่​ดู​เหมือน​ว่า​พระ​เยซู​ใช้​ธรรมเนียม​นี้​เพื่อ​สอน​สาวก​เรื่อง​ความ​ถ่อม

แถว​หน้า​สุด​ใน​ที่​ประชุม​ของ​ชาว​ยิว
แถว​หน้า​สุด​ใน​ที่​ประชุม​ของ​ชาว​ยิว

แบบ​จำลอง​ใน​วีดีโอ​นี้​ทำ​ขึ้น​โดย​อาศัย​ข้อมูล​ส่วน​หนึ่ง​จาก​ซาก​ปรัก​หัก​พัง​ของ​ที่​ประชุม​ชาว​ยิว​ใน​ศตวรรษ​แรก​ใน​เมือง​กัมลา ซึ่ง​อยู่​ห่าง​จาก​ทะเลสาบ​กาลิลี​ไป​ทาง​ทิศ​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ประมาณ 10 กม. ไม่​มี​ที่​ประชุม​ชาว​ยิว​จาก​ศตวรรษ​แรก​ที่​ยัง​คง​อยู่​ใน​สภาพ​สมบูรณ์​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้ จึง​ไม่​รู้​แน่ชัด​ว่า​ที่​ประชุม​ชาว​ยิว​มี​ลักษณะ​อย่าง​ไร​จริง ๆ แบบ​จำลอง​นี้​มี​การ​ใส่​ราย​ละเอียด​ที่​น่า​จะ​มี​อยู่​ใน​ที่​ประชุม​หลาย​แห่ง​ใน​สมัย​นั้น

1. แถว​หน้า​สุด​หรือ​ที่​นั่ง​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​ที่​ประชุม​อาจ​อยู่​ใกล้​หรือ​อยู่​บน​เวที​ของ​ผู้​บรรยาย

2. เวที​ที่​ครู​ขึ้น​ไป​อ่าน​กฎหมาย​ของ​โมเสส ที่​ตั้ง​เวที​ใน​ที่​ประชุม​แต่​ละ​แห่ง​อาจ​แตกต่าง​กัน

3. ที่​นั่ง​ข้าง​ผนัง​จะ​เป็น​ของ​คน​สำคัญ​ใน​ชุมชน ส่วน​คน​อื่น ๆ อาจ​ปู​เสื่อ​นั่ง​บน​พื้น ดู​เหมือน​ที่​ประชุม​ใน​กัมลา​มี​ที่​นั่ง 4 แถว

4. หีบ​เก็บ​ม้วน​หนังสือ​ศักดิ์สิทธิ์​อาจ​อยู่​ที่​ผนัง​ด้าน​หลัง

การ​จัด​ที่​นั่ง​ใน​ที่​ประชุม​แบบ​นี้​เตือน​ให้​คน​ที่​มา​ประชุม​ไม่​ลืม​ว่า​แต่​ละ​คน​มี​ฐานะ​ตำแหน่ง​อย่าง​ไร​ใน​สังคม ใคร​เป็น​ใหญ่​กว่า​ใคร ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​ที่​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ชอบ​เถียง​กัน​บ่อย ๆ—มธ 18:1-4; 20:20, 21; มก 9:33, 34; ลก 9:46-48

ตู้​บริจาค​และ​แม่​ม่าย
ตู้​บริจาค​และ​แม่​ม่าย

แหล่ง​อ้างอิง​ของ​พวก​รับบี​บอก​ว่า​ใน​วิหาร​ที่​เฮโรด​สร้าง​ขึ้น​มี​ตู้​บริจาค​ซึ่ง​เรียก​ว่า​โชฟาร์​อยู่ 13 ตู้ คำ​ฮีบรู โชฟาร์ แปล​ว่า “เขา​แกะ” ทำ​ให้​รู้​ว่า​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ตู้​นี้​อาจ​มี​รูป​ร่าง​คล้าย​เขา​สัตว์​หรือ​แตร ตอน​ที่​พระ​เยซู​ตำหนิ​พวก​ที่​ชอบ​โฆษณา​ความ​ดี​ของ​ตัว​เอง​หรือ​เป่า​แตร​ข้าง​หน้า​ตัว​เอง​เวลา​ช่วยเหลือ​คน​จน คน​ที่​ได้​ยิน​ท่าน​พูด​คง​นึก​ถึง​เสียง​ดัง​ของ​เหรียญ​ที่​ถูก​หยอด​ลง​ไป​ใน​ตู้​บริจาค​รูป​ร่าง​คล้าย​แตร​เหล่า​นี้ (มธ 6:2) เหรียญ​เล็ก ๆ 2 เหรียญ​ที่​แม่​ม่าย​หยอด​ลง​ไป​คง​ไม่​ทำ​ให้​เกิด​เสียง​ดัง​เท่า​ไร แต่​พระ​เยซู​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​แม่​ม่าย​คน​นี้​และ​เงิน​ที่​เธอ​บริจาค​มี​ค่า​มาก​ใน​สายตา​ของ​พระ​ยะโฮวา