ข้ามไปยังเนื้อหา

คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ถูกต้องไหม?

คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ถูกต้องไหม?

 ส่วน​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ พิมพ์​ออก​มา​ใน​ปี ค.ศ. 1950 ตั้ง​แต่​นั้น​ก็​มี​หลาย​คน​ได้​ให้​ความ​เห็น​หรือ​ตั้ง​ข้อ​สงสัย​เกี่ยว​กับ​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ a เพราะ​ฉบับ​แปล​นี้​มี​บาง​อย่าง​แตกต่าง​จาก​ฉบับ​แปล​อื่น​ ๆ ซึ่ง​เหตุ​ผล​หลัก​ก็​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เรื่อง​ต่อ​ไป​นี้

  •   ความ​น่า​เชื่อถือ ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ อาศัย​การ​ศึกษา​วิจัย​ล่า​สุด​ของ​ผู้​เชี่ยวชาญ​และ​อาศัย​ต้น​ฉบับ​เก่า​แก่​ที่​น่า​เชื่อถือ​ที่​สุด ต่าง​จาก​ฉบับ​แปล​คิงเจมส์ ปี 1611 ซึ่ง​อาศัย​ต้น​ฉบับ​ที่​มัก​ไม่​ค่อย​ถูก​ต้อง​และ​ไม่​เก่า​แก่​เท่า​กับ​ต้น​ฉบับ​ที่​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ใช้

  •   ความ​ถูก​ต้อง ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ พยายาม​ถ่ายทอด​ข้อ​ความ​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​ให้​ถูก​ต้อง​ตรง​ตาม​ต้น​ฉบับ​มาก​ที่​สุด (2 ทิโมธี 3:16) ฉบับ​แปล​อื่น​หลาย​ฉบับ​ยอม​ให้​ธรรมเนียม​ประเพณี​ของ​มนุษย์​มี​ผล​ต่อ​การ​แปล​ข้อ​ความ​ของ​พระเจ้า เช่น ใช้​คำ​ว่า​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​หรือ​พระเจ้า​แทน​ชื่อ​ยะโฮวา​ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เฉพาะ​ของ​พระเจ้า

  •   การ​แปล​แบบ​ตรง​ตัว คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​ฉบับ​แปล​แบบ​ถอด​ความ แต่​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ แปล​แบบ​ตรง​ตัว​เสมอ​ถ้า​ไม่​ทำ​ให้​ข้อ​ความ​นั้น​ฟัง​แปลก​หรือ​ทำ​ให้​ความ​คิด​ของ​ต้น​ฉบับ​ผิด​เพี้ยน​ไป บาง​ฉบับ​ที่​แปล​แบบ​ถอด​ความ​อาจ​ใส่​ความ​คิด​ของ​มนุษย์​หรือ​ตัด​ราย​ละเอียด​สำคัญ​บาง​อย่าง​ออก

ความ​แตกต่าง​ระหว่าง​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ กับ​ฉบับ​แปล​อื่น​ ๆ

 ไม่​มี​หนังสือ​บาง​เล่ม คริสตจักร​โรมัน​คาทอลิก​และ​อีสเทิร์น​ออร์โทด็อกซ์​เพิ่ม​หนังสือ​บาง​เล่ม​ที่​เรียก​ว่า​หนังสือ​อธิกธรรม​เข้า​ไป​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ของ​พวก​เขา แต่​หนังสือ​เหล่า​นี้​ไม่​เป็น​ที่​ยอม​รับ​ใน​สารบบ​ของ​คน​ยิว เรื่อง​นี้​สำคัญ​มาก​เพราะ​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “พระเจ้า​มอบ​พระ​คัมภีร์​ศักดิ์สิทธิ์​ให้​พวก​ยิว” (โรม 3:1, 2) นี่​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ และ​ฉบับ​แปล​ที่​ทัน​สมัย​อีก​หลาย​ฉบับ​ไม่​รวม​หนังสือ​อธิกธรรม​ไว้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล

 ไม่​มี​ข้อ​คัมภีร์​บาง​ข้อ ฉบับ​แปล​บาง​ฉบับ​เพิ่ม​ข้อ​คัมภีร์​หรือ​วลี​ที่​ไม่​มี​ใน​ต้น​ฉบับ​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด แต่​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ไม่​ใส่​ข้อ​ความ​เหล่า​นั้น​ลง​ไป ฉบับ​แปล​สมัย​ใหม่​หลาย​ฉบับ​ก็​ไม่​ใส่​เหมือน​กัน หรือ​ถ้า​ใส่​ก็​จะ​ทำ​หมายเหตุ​ไว้​ว่า​สิ่ง​ที่​เพิ่ม​เข้า​ไป​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ต้น​ฉบับ​เก่า​แก่​ซึ่ง​เป็น​ที่​ยอม​รับ​มาก​ที่​สุด b

 ใช้​คำ​ต่าง​กัน บาง​ครั้ง​การ​แปล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​ก็​ทำ​ให้​เข้าใจ​ไม่​ชัดเจน​หรือ​เข้าใจ​ผิด เช่น พระ​คัมภีร์​บาง​ฉบับ​แปล​คำ​พูด​ของ​พระ​เยซู​ใน​มัทธิว 5:3 ว่า “ผู้​มี​ใจ​ยาก​จน​ย่อม​เป็น​สุข” (พระ​คัมภีร์​โดย​คณะ​กรรมการ​คาทอลิก​เพื่อ​พระ​คัมภีร์ ) หลาย​คน​ไม่​เข้าใจ​คำ​ว่า “ใจ​ยาก​จน” ส่วน​บาง​คน​ก็​คิด​ว่า​พระ​เยซู​กำลัง​สอน​ว่า​ความ​ถ่อม​ใจ​หรือ​ความ​ยาก​จน​เป็น​เรื่อง​ดี แต่​จริง​ ๆ ​แล้ว ท่าน​กำลัง​เน้น​ว่า​ความ​สุข​แท้​มา​จาก​การ​ยอม​รับ​ว่า​เรา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ชี้​แนะ​จาก​พระเจ้า ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ จึง​แปล​คำ​พูด​ของ​พระ​เยซู​ตาม​ความ​หมาย​ที่​ถูก​ต้อง​ว่า “คน​ที่​รู้​ตัว​ว่า​จำเป็น​ต้อง​พึ่ง​พระเจ้า”—มัทธิว 5:3

ความ​เห็น​ที่​ดี​เกี่ยว​กับ​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ จาก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​ไม่​ใช่​พยาน​ฯ

  •   ผู้​แปล​และ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ที่​มี​ชื่อเสียง​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ชื่อ​เอดการ์ เจ. กูดสปีด เขียน​ใน​จดหมาย​ลง​วัน​ที่ 8 ธันวาคม 1950 เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ว่า “ผม​สนใจ​ใน​งาน​เผยแพร่​ของ​พวก​คุณ ที่​แผ่​ขยาย​ไป​ทั่ว​โลก และ​ชอบ​การ​แปล​ที่​เป็น​ธรรมชาติ ชัดเจน และ​มี​ชีวิต​ชีวา ผม​ยืน​ยัน​ได้​ว่า​ฉบับ​แปล​นี้​มา​จาก​การ​ศึกษา​ค้นคว้า​และ​ตรวจ​สอบ​อย่าง​ดี”

    เอดการ์ เจ. กูดสปีด

  •   ศาสตราจารย์​แอลเลน วิคเกรน จาก​มหาวิทยาลัย​ชิคาโก​บอก​ว่า ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​การ​แปล​โดย​ใช้​ภาษา​สมัย​ใหม่ และ​แทน​ที่​จะ​แปล​คล้าย​กับ​ฉบับ​อื่น​ ๆ ฉบับ​แปล​นี้ “แปล​อย่าง​แตกต่าง​ตาม​ต้น​ฉบับ​จริง​ ๆ”—The Interpreter’s Bible เล่ม 1 หน้า 99

  •   นัก​วิจารณ์​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ชาว​อังกฤษ​ชื่อ​อะเล็กซานเดอร์ ทอมสัน ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ว่า “เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ฉบับ​แปล​นี้​เป็น​ผล​งาน​ของ​ผู้​แปล​ที่​ชำนาญ​และ​ฉลาด พวก​เขา​พยายาม​แปล​ความ​หมาย​ให้​ใกล้​เคียง​กับ​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​ภาษา​อังกฤษ​จะ​สามารถ​สื่อ​ออก​มา​ได้”—The Differentiator ฉบับ​เมษายน 1952 หน้า 52

  •   ถึง​แม้​โรเบิร์ต เอ็ม. แมกคอย จะ​รู้สึก​ว่า​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ มี​ทั้ง​สิ่ง​ที่​ยอด​เยี่ยม​และ​สิ่ง​ที่​ดู​แปลก แต่​เขา​ก็​สรุป​ว่า “ฉบับ​แปล​พันธสัญญา​ใหม่​ฉบับ​นี้​เป็น​หลักฐาน​ว่า ใน​กลุ่ม​นี้ [พยาน​พระ​ยะโฮวา] มี​คน​ที่​สามารถ​แก้​ปัญหา​ต่าง​ ๆ ​ใน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​เป็น​อย่าง​ดี”—Andover Newton Quarterly ฉบับ​มกราคม 1963 หน้า 31

  •   แม้​ศาสตราจารย์ เอส. แมคลีน กิล​เม​อร์​จะ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​คำ​แปล​บาง​อย่าง​ใน​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ แต่​เขา​ก็​ยอม​รับ​ว่า​ผู้​แปล​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้ “เข้าใจ​ภาษา​กรีก​ได้​อย่าง​ดี​เยี่ยม”—Andover Newton Quarterly ฉบับ​กันยายน 1966 หน้า 26

  •   เมื่อ​ผู้​ช่วย​ศาสตราจารย์​โทมัส เอ็น. วิน​เท​อร์ ให้​ความ​เห็น​เกี่ยว​กับ​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ซึ่ง​นำ​มา​ทำ​เป็น​ฉบับ Kingdom Interlinear Translation of the Greek Scriptures เขา​บอก​ว่า “กลุ่ม​ผู้​แปล​ที่​ไม่​ประสงค์​ออก​นาม​ได้​แปล​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​โดย​ใช้​ภาษา​ปัจจุบัน​และ​แปล​ได้​อย่าง​ถูก​ต้อง​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย”—The Classical Journal ฉบับ​เมษายน-พฤษภาคม 1974 หน้า 376

  •   ศาสตราจารย์​เบนจามิน เคดาร์-คอปฟ์สไตน์ ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​ภาษา​ฮีบรู​ใน​ประเทศ​อิสราเอล กล่าว​ไว้​เมื่อ​ปี 1989 ว่า “ใน​งาน​วิจัย​ด้าน​ภาษา​ศาสตร์​ของ​ผม​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ฮีบรู​และ​ฉบับ​แปล​ต่าง​ ๆ ผม​มัก​จะ​อ้าง​ถึง​ฉบับ​ที่​เรียก​กัน​ว่า ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ภาษา​อังกฤษ และ​ทุก​ครั้ง​ที่​ทำ​อย่าง​นั้น ผม​ยิ่ง​รู้สึก​มั่น​ใจ​ว่า​ฉบับ​แปล​นี้​สะท้อน​ให้​เห็น​ว่า​ผู้​แปล​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ข้อ​ความ​ต้น​ฉบับ​อย่าง​ถูก​ต้อง​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ไป​ได้”

  •   จาก​ผล​การ​วิเคราะห์​ฉบับ​แปล​ภาษา​อังกฤษ​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​อย่าง​กว้างขวาง 9 ฉบับ ผู้​ช่วย​ศาสตราจารย์​ด้าน​การ​ศึกษา​ศาสนา​ชื่อ​เจสัน เดวิด เบดุน​เขียน​ว่า “เมื่อ​เปรียบ​เทียบ​กับ​ฉบับ​แปล​อื่น​ ๆ ปรากฏ​ว่า​ฉบับ NW [ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่] เป็น​ฉบับ​แปล​ที่​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​ที่​สุด” แม้​คน​ทั่ว​ไป​และ​ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​คน​คิด​ว่า​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ แตกต่าง​จาก​ฉบับ​แปล​อื่น​เพราะ​ผู้​แปล​เปลี่ยน​ข้อ​ความ​ตาม​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​ตัว​เอง แต่​เบดุน​บอก​ว่า “ความ​แตกต่าง​ส่วน​ใหญ่​เป็น​เพราะ​ฉบับ NW แปล​ข้อ​ความ​ของ​ผู้​เขียน​พันธสัญญา​ใหม่​แบบ​ตรง​ตัว​ตาม​ที่​เขียน​ใน​ต้น​ฉบับ จึง​มี​ความ​ถูก​ต้อง​มาก​กว่า”—Truth in Translation หน้า 163, 165

a ความ​เห็น​ใน​บทความ​นี้​พูด​ถึง​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ภาษา​อังกฤษ​ก่อน​ฉบับ​ปรับ​ปรุง​ปี 2013

b ตัว​อย่าง​เช่น พระ​คัมภีร์​โดย​คณะ​กรรมการ​คาทอลิก​เพื่อ​พระ​คัมภีร์ และ​พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์ ฉบับ​อมตธรรม​ร่วม​สมัย เพิ่ม​มัทธิว 17:21; 18:11; 23:14; มาระโก 7:16; 9:44, 46; 11:26; 15:28; ลูกา 17:36; 23:17; ยอห์น 5:4; กิจการ 8:37; 15:34; 24:7; 28:29 และ​โรม 16:24 ส่วน​ฉบับ​แปล​คิงเจมส์ และ​ฉบับ​แปล Douay-Rheims ก็​มี​ข้อ​ความ​ที่​เป็น​คำ​สอน​เกี่ยว​กับ​ตรีเอกานุภาพ​ใน 1 ยอห์น 5:7, 8 ซึ่ง​เป็น​ข้อ​ความ​ที่​ถูก​เพิ่ม​เข้า​ไป​หลัง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​เสร็จ​แล้ว​หลาย​ร้อย​ปี