ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คัมภีร์ไบเบิลฉบับเบเดลล์—หนึ่งก้าวเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้น

คัมภีร์ไบเบิลฉบับเบเดลล์—หนึ่งก้าวเล็ก ๆ ที่ช่วยให้เข้าใจคัมภีร์ไบเบิลดีขึ้น

ตอนที่วิลเลียม เบเดลล์ นักบวชชาวอังกฤษไปถึงไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1627 เขาเจอเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกแปลกใจมาก ผู้คนส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เป็นคาทอลิก ในตอนนั้น พวกเขาถูกปกครองโดยอังกฤษที่เป็นโปรเตสแตนต์ นักปฏิรูปชาวโปรเตสแตนต์ได้แปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้กันตลอดทั่วยุโรป แต่กลับดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจที่จะแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาไอริชเลย

เบเดลล์รู้สึกสงสารคนไอริชและคิดว่าพวกเขา “ไม่ควรถูกละเลยเพียงเพราะไม่รู้ภาษาอังกฤษ” เบเดลล์จึงคิดที่จะผลิตคัมภีร์ไบเบิลออกมาเป็นภาษาไอริช แต่เขาก็เจอกับการต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากพวกโปรเตสแตนต์ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

ต่อต้านการใช้ภาษาไอริช

เบเดลล์คิดว่าเป็นหน้าที่ของเขาเองที่จะเรียนภาษาไอริช ตอนที่เป็นอาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการของวิทยาลัยทรินิตีแห่งเมืองดับลินและตอนที่เป็นบิชอปแห่งกิลมอร์เขาสนับสนุนนักเรียนให้ใช้ภาษาไอริช ที่จริง ราชินีเอลิซาเบทที่ 1 ก่อตั้งวิทยาลัยทรินิตีนี้ขึ้นเพื่อผลิตนักเทศน์ที่จะสอนเธอให้เข้าใจข่าวสารจากคัมภีร์ไบเบิลในภาษาไอริชซึ่งเป็นภาษาแม่ของเธอ และเบเดลล์พยายามทำให้เรื่องนี้เป็นจริง

ในกิลมอร์เขตปกครองของบิชอป ผู้คนส่วนใหญ่พูดภาษาไอริช ดังนั้น เบเดลล์จึงยืนกรานว่าต้องมีนักเทศน์ที่พูดภาษาไอริชได้ และแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากทำตามความตั้งใจนี้ก็มาจากคำพูดของอัครสาวกเปาโลที่กล่าวในหนังสือ 1 โครินท์ 14:19 ที่ว่า “ข้าพเจ้าอยากจะพูดในประชาคมสักห้าคำด้วยภาษาที่เข้าใจได้เพื่อสอนคนอื่นมากกว่าจะพูดหมื่นคำเป็นภาษาอื่น” ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก

แต่พวกผู้มีอำนาจพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะหยุดเบเดลล์ ตามที่นักประวัติศาสตร์หลายคนบันทึกไว้ บางคนยืนยันว่า การใช้ภาษาไอริช “เป็นภัยต่อชาติ” ส่วนคนอื่น ๆ ก็บอกว่า “เป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของรัฐบาล” บางคนรู้สึกว่า การปล่อยคนไอริชไม่ให้รู้เรื่องอะไรมากนักจะเป็นผลดีต่อประเทศอังกฤษ ที่จริง มีการออกกฎหมายให้คนไอริชเลิกใช้ภาษาและทิ้งวัฒนธรรมของพวกเขา แล้วหันมาเรียนภาษาอังกฤษ และทำตัวแบบคนอังกฤษ

โครงการผลิตคัมภีร์ไบเบิลของเบเดลล์

แนวคิดแบบเผด็จการนั้นไม่อาจขัดขวางเบเดลล์ได้ ในช่วงต้นทศวรรษ 1630 เขาเริ่มแปลคัมภีร์ไบเบิลที่เพิ่งพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษได้ไม่นาน (ฉบับแปลคิง เจมส์ ปี 1611) เป็นภาษาไอริช เขาต้องการผลิตคัมภีร์ไบเบิลที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้คนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เขาเป็นห่วงว่าคนจน ๆ จะพบทางที่นำไปสู่ชีวิตตลอดไปได้อย่างไร ถ้าพวกเขาอ่านคัมภีร์ไบเบิลไม่เข้าใจ—โยฮัน 17:3

เบเดลล์ไม่ใช่คนแรกที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ประมาณ 30 ปีก่อนหน้านั้น วิลเลียม แดเนียลบิชอปคนหนึ่งก็เห็นว่า เป็นเรื่องยากมากที่ผู้คนจะเรียนรู้สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลสอน “ในภาษาที่เขาไม่เข้าใจ” แดเนียลจึงแปลพระคัมภีร์ภาคภาษากรีกออกมาเป็นภาษาไอริช ตอนนี้เบเดลล์ก็ต้องทำงานแปลพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู คัมภีร์ไบเบิลที่รู้จักกันว่าเป็นฉบับของเบเดลล์ประกอบด้วยงานของเขาเองและงานที่วิลเลียม แดเนียลแปลก่อนหน้านี้ ผลก็คือ คัมภีร์ไบเบิลของเบเดลล์เป็นพระคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกและฉบับเดียว ที่แปลเป็นภาษาไอริชตลอดช่วง 300 ปีต่อจากนั้น

เบเดลล์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮีบรูขอคนไอริช 2 คนให้ช่วยแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไอริช เมื่องานคืบหน้าไปเรื่อย ๆ เบเดลล์พร้อมกับผู้ช่วยอีกหนึ่งหรือสองคนที่ไว้ใจได้จะช่วยกันตรวจทานและแก้ไขข้อคัมภีร์แต่ละข้ออย่างละเอียด สำหรับแหล่งอ้างอิง พวกเขาค้นดูจากฉบับแปลภาษาอิตาลีแปลโดยนักเทววิทยาชาวสวิสที่ชื่อ โจวานนี ดีโอดาตี, จากพระคัมภีร์กรีกเซปตัวจินต์, และจากสำเนาต้นฉบับเก่าแก่ของพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู

ทีมแปลนี้ทำตามผู้แปลฉบับคิงเจมส์ที่แปลไว้ก่อนหน้านี้ (เบเดลล์รู้จักหลายคนในทีมนั้นเป็นการส่วนตัว) โดยใส่ชื่อเฉพาะของพระเจ้าหลายที่ในฉบับแปลของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ในเอ็กโซโด 6:3 มีการแปลชื่อพระเจ้าว่า “อิโฮวาห์” ต้นฉบับของคัมภีร์ไบเบิลฉบับเบเดลล์ถูกเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดของมาร์ช เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์—ดูกรอบ “เบเดลล์ที่ได้รับการยอมรับและระลึกถึง”

ในที่สุดก็ได้รับการตีพิมพ์

เบเดลล์แปลคัมภีร์ไบเบิลเสร็จประมาณปี ค.ศ. 1640 แต่ไม่สามารถตีพิมพ์ได้ทันที ทำไม? สาเหตุหนึ่งคือเขายังเจอกับการต่อต้านอย่างหนักอยู่ พวกผู้ต่อต้านพยายามใส่ร้ายหัวหน้าทีมแปลของเบเดลล์ โดยหวังจะทำให้งานแปลนี้หมดความน่าเชื่อถือ และถึงกับจงใจหาเรื่องจับเบเดลล์เข้าคุก เท่านั้นยังไม่พอ เบเดลล์ต้องเจอกับกลุ่มกบฏที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านคนอังกฤษจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดในปี ค.ศ. 1641 ทั้ง ๆ ที่เบเดลล์เป็นคนอังกฤษ แต่คนไอริชในท้องถิ่นก็ปกป้องเขาเพราะรู้ว่าเบเดลล์สนใจและอยากช่วยพวกเขาจริง ๆ แต่ก็ช่วยได้เพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น เพราะในที่สุดทหารฝ่ายกบฏจับตัวเบเดลล์ไปขังคุกที่มีสภาพแย่มาก ซึ่งทำให้เขาเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1642 เขาไม่มีโอกาสเห็นงานของตัวเองได้รับการตีพิมพ์

ปกในของสำเนาต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลฉบับเบเดลล์ ประมาณปี ค.ศ. 1640 และตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1685

งานของเบเดลล์หายไปเกือบหมดตอนที่บ้านเขาถูกปล้นและถูกทำลาย แต่น่ายินดีที่เพื่อนรักของเบเดลล์สามารถเก็บรักษางานแปลของเขาไว้ได้ทั้งหมด ไม่นาน นาร์ซิสซุส มาร์ชซึ่งภายหลังเป็นอาร์ชบิชอปแห่งเมืองอาร์มาก์และพระราชาคณะของคริสตจักรแห่งไอร์แลนด์ ก็ได้รับงานแปลของเบเดลล์ และเขาได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากโรเบิร์ต บอยล์ ด้วยความกล้าหาญ นาร์ซิสซุสตีพิมพ์คัมภีร์ไบเบิลของเบเดลล์ในปี ค.ศ. 1685

ก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญสำหรับก้าวต่อไป

คัมภีร์ไบเบิลของเบเดลล์ไม่ได้รับการยกย่องมากนัก แต่ก้าวเล็ก ๆ นี้ก็เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ผู้คนเข้าใจเนื้อหาในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่พูดภาษาไอริช ซึ่งไม่ใช่แค่คนในไอร์แลนด์เท่านั้นแต่ยังรวมถึงคนที่อยู่ในสกอตแลนด์และประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย ตอนนี้พวกเขาสามารถรับเอาความรู้เรื่องพระเจ้าได้อย่างจุใจ เมื่ออ่านพระคัมภีร์ในภาษาแม่ของพวกเขาเอง—มัดธาย 5:3, 6

“ตอนเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับเบเดลล์ เราได้ยินคำจากคัมภีร์ไบเบิลในภาษาแม่ของเราเอง นั่นเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยผมกับครอบครัวให้เรียนรู้ความจริงอันดีเยี่ยมที่พบในพระคัมภีร์”

คัมภีร์ไบเบิลของเบเดลล์ยังคงช่วยคนที่รักความจริงให้รู้เรื่องพระเจ้าได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ชายชาวไอริชคนหนึ่งได้เรียนรู้ว่าคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริง ๆ เขาบอกว่า “ตอนเราอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับเบเดลล์ เราได้ยินคำจากคัมภีร์ไบเบิลในภาษาแม่ของเราเอง นั่นเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยผมกับครอบครัวให้เรียนรู้ความจริงอันดีเยี่ยมที่พบในพระคัมภีร์”