ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คำของพระเจ้าแพร่หลายในสเปนยุคกลางได้อย่างไร?

คำของพระเจ้าแพร่หลายในสเปนยุคกลางได้อย่างไร?

“ข้าพเจ้า​หวัง​เป็น​อย่าง​ยิ่ง​ว่า​เมื่อ​เดิน​ทาง​ไป​สเปน ข้าพเจ้า​จะ​แวะ​มา​หา​พวก​ท่าน และ​เมื่อ​ได้​อยู่​กับ​พวก​ท่าน​ระยะ​หนึ่ง​จน​พอ​ใจ​แล้ว ก็​จะ​มี​พวก​ท่าน​ร่วม​เดิน​ทาง​ไป​ด้วย​ช่วง​หนึ่ง”—โรม 15:24

ข้อ​ความ​นี้​อยู่​ใน​จดหมาย​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ถึง​เพื่อน​คริสเตียน​ใน​กรุง​โรม​ประมาณ​ปี ค.ศ. 56 แม้​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​บอก​ว่า​เปาโล​เดิน​ทาง​ไป​สเปน​จริง​หรือ​ไม่ แต่​ที่​แน่ ๆ คือ ความ​พยายาม​ของ​เปาโล​และ​ผู้​เผยแพร่​พระ​คัมภีร์​ยุค​บุกเบิก​คน​อื่น ๆ ได้​ทำ​ให้​ข่าว​ดี​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​ถึง​สเปน​ใน​ช่วง​ศตวรรษ​ที่ 2

ไม่​นาน​ชุมชน​คริสเตียน​ใน​สเปน​ก็​เริ่ม​ขยาย​ตัว​ขึ้น​เรื่อย ๆ เนื่อง​จาก​สเปน​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​ของ​จักรวรรดิ​โรมัน​มา​นาน พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 2 ภาษา​ละติน​จึง​กลาย​เป็น​ภาษา​ที่​คน​ส่วน​ใหญ่​พูด​กัน​โดย​ทั่ว​ไป การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ละติน​จึง​เป็น​สิ่ง​จำเป็น

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​ที่​ผู้​คน​ต้องการ

คริสเตียน​ชาว​สเปน​ยุค​แรก ๆ แปล​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน​หลาย​ฉบับ​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ใน​ชื่อ เวทุส ลาตินา ฮิสปานา คัมภีร์​ไบเบิล​ชุด​นี้​ได้​แพร่​หลาย​ใน​สเปน​นาน​หลาย​ปี​ก่อน​ที่​เจโรม​จะ​แปล​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ละติน​วัลเกต อัน​โด่งดัง​เสร็จ​สมบูรณ์​ใน​ช่วง​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 5

พระ​คัมภีร์​ที่​เจโรม​แปล​เสร็จ​ใน​เบทเลเฮม ปาเลสไตน์ ไป​ถึง​สเปน​อย่าง​รวด​เร็ว เมื่อ​ลู​ซิ​นิอุส​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​ร่ำรวย​รู้​ว่า​เจโรม​กำลัง​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ละติน เขา​อยาก​ได้​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​นี้​เร็ว​ที่​สุด​เท่า​ที่​จะ​เป็น​ได้ เขา​จึง​ส่ง​นัก​คัด​ลอก​หก​คน​ไป​ที่​เบทเลเฮม​เพื่อ​คัด​ลอก​พระ​คัมภีร์​และ​นำ​กลับ​มา​ที่​สเปน ใน​ศตวรรษ​ต่อ ๆ มา​ฉบับ​ละติน​วัลเกต ก็​ค่อย ๆ เข้า​มา​แทน​ที่​พระ​คัมภีร์​ชุด​ก่อน​ที่​เรียก​ว่า เวทุส ลาตินา ฮิสปานา ฉบับ​ภาษา​ละติน​เหล่า​นี้​ช่วย​ให้​คน​ใน​สเปน​สามารถ​อ่าน​และ​เข้าใจ​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้ แต่​เมื่อ​จักรวรรดิ​โรมัน​ล่ม​สลาย ความ​จำเป็น​ต้อง​แปล​ภาษา​ใหม่​ก็​เกิด​ขึ้น

คัมภีร์​ไบเบิล​บน​แผ่น​หิน​ชนวน

ใน​ศตวรรษ​ที่ 5 ชาว​วิสิกอท​และ​ชาว​เผ่า​เยอรมัน​อื่น ๆ ได้​บุก​โจมตี​สเปน พวก​เขา​ได้​นำ​ภาษา​กอทิก​เข้า​มา​บน​คาบสมุทร​แห่ง​นี้ ผู้​บุกรุก​เหล่า​นี้​นับถือ​ศาสนา​คริสต์​ที่​เรียก​ว่า​นิกาย​อาริอุส​ซึ่ง​ไม่​เชื่อ​คำ​สอน​เรื่อง​ตรีเอกานุภาพ และ​ได้​นำ​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​ของ​พวก​เขา​มา​ด้วย​ซึ่ง​เรียก​ว่า คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​กอทิก​ของ​อุลฟิลัส คน​ใน​สเปน​ก็​ได้​อ่าน​จน​ถึง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่ 6 แต่​เมื่อ​กษัตริย์​เรคคาเรด​แห่ง​เผ่า​วิสิกอท​เลิก​นับถือ​นิกาย​อาริอุส​แล้ว​เปลี่ยน​ไป​นับถือ​นิกาย​คาทอลิก เขา​สั่ง​ให้​เก็บ​และ​ทำลาย​หนังสือ​ของ​นิกาย​อาริอุส​ทั้ง​หมด รวม​ทั้ง​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ของ​อุลฟิลัส ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​ไม่​มี​ฉบับ​แปล​ภาษา​กอทิก​หลง​เหลือ​อยู่​ใน​สเปน​อีก​เลย

แผ่น​หิน​ชนวน​ที่​มี​ข้อ​ความ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​ท้องถิ่น​จาก​ศตวรรษ​ที่ 6

แต่​ใน​ช่วง​เวลา​นั้น​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​ก็​ยัง​หา​อ่าน​ได้​ทั่ว​ไป​ใน​สเปน นอก​จาก​ภาษา​กอทิก​แล้ว ยัง​มี​ภาษา​ละติน​ท้องถิ่น​ซึ่ง​พูด​กัน​ทั่ว​ไป​ใน​สเปน​ด้วย ต่อ​มา ภาษา​นี้​กลาย​เป็น​ที่​มา​ของ​กลุ่ม​ภาษา​โรมานซ์​ซึ่ง​พูด​กัน​ใน​คาบสมุทร​ไอบีเรีย * เอกสาร​ภาษา​ละติน​ท้องถิ่น​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​นี้​เรียก​ว่า แผ่น​หิน​ชนวน​ของ​วิสิกอท แผ่น​หิน​พวก​นี้​มี​มา​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 6 และ 7 ซึ่ง​บาง​แผ่น​มี​ข้อ​ความ​จาก​บทเพลง​สรรเสริญ​และ​หนังสือ​กิตติคุณ มี​อยู่​แผ่น​หนึ่ง​ที่​บันทึก​ข้อ​ความ​จาก​เพลง​สรรเสริญ บท 16 ทั้ง​บท

การ​ที่​มี​ข้อ​คัมภีร์​บน​แผ่น​หิน​ชนวน​ธรรมดา ๆ แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คน​ทั่ว​ไป​ใน​สมัย​นั้น​สามารถ​หา​อ่าน​และ​คัด​ลอก​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​ได้ แม้​แต่​ครู​ก็​ยัง​ใช้​ข้อ​ความ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​แบบ​เรียน​ให้​เด็ก​ฝึก​อ่าน​และ​เขียน แผ่น​หิน​ชนวน​เป็น​เครื่อง​เขียน​ราคา​ถูก ซึ่ง​ต่าง​จาก​แผ่น​หนัง​ราคา​แพง​ที่​โรง​เรียน​นัก​ธรรม​ใช้​ผลิต​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ที่​มี​ภาพ​ประกอบ

ภาพ​ประกอบ​ที่​มี​ราย​ละเอียด​ชัดเจน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​แห่ง​เมือง​เลออน แม้​จะ​เป็น​พระ​คัมภีร์​ที่​ล้ำ​ค่า​มาก​แต่​ก็​แทบ​ไม่​ได้​ช่วย​แพร่​ข่าวสาร​ของ​พระเจ้า​ไป​ถึง​ประชาชน​เลย

พระ​คัมภีร์​ที่​มี​ภาพ​ประกอบ​เล่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​ล้ำ​ค่า​มาก​ถูก​เก็บ​ไว้​ใน​โบสถ์​ซาน อิซิโดโร เมือง​เลออน ประเทศ​สเปน พระ​คัมภีร์​เล่ม​นี้​มี​มา​ตั้ง​แต่​ปี 960 มี​ทั้ง​หมด 516 แผ่น ขนาด​ประมาณ 47 คูณ 34 เซนติเมตร และ​หนัก​ประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วน​อีก​เล่ม​หนึ่ง​คือ​คัมภีร์​ไบเบิล​แห่ง​รี​ปอล ซึ่ง​มี​มา​ตั้ง​แต่​ประมาณ​ปี 1020 ปัจจุบัน​อยู่​ที่​ห้อง​สมุด​แห่ง​วาติกัน คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​เป็น​หนึ่ง​ใน​ฉบับ​ที่​เลิศ​หรู​ที่​สุด​ใน​ยุค​กลาง แต่​เพื่อ​จะ​ทำ​งาน​ศิลปะ​อย่าง​นั้น​ได้ นัก​บวช​ต้อง​ใช้​เวลา​ทั้ง​วัน​ใน​การ​ประดิษฐ์​อักษร​ตัว​เริ่ม​ต้น​เพียง​ตัว​เดียว​และ​ใช้​เวลา​ทั้ง​สัปดาห์​เพื่อ​ทำ​ปก​ด้าน​ใน แต่​พระ​คัมภีร์​ที่​หรูหรา​ขนาด​นั้น​กลับ​ไม่​ได้​ช่วย​แพร่​ข่าวสาร​ของ​พระเจ้า​ไป​ถึง​ประชาชน​มาก​นัก

คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​อาหรับ

พอ​ถึง​ศตวรรษ​ที่ 8 การ​รุกราน​ของ​ชาว​มุสลิม​ก็​ทำ​ให้​อีก​ภาษา​หนึ่ง​เริ่ม​เข้า​มา​มี​อิทธิพล​ใน​สเปน ใน​อาณานิคม​ชาว​มุสลิม ภาษา​อาหรับ​เริ่ม​เข้า​มา​แทน​ที่​ภาษา​ละติน​และ​ทำ​ให้​มี​ความ​จำเป็น​ต้อง​แปล​พระ​คัมภีร์​เป็น​ภาษา​ใหม่​นี้

จาก​ศตวรรษ​ที่ 5 ถึง 8 คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​ละติน​และ​ภาษา​อาหรับ​ช่วย​คน​ใน​สเปน​ให้​ได้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า

คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ภาษา​อาหรับ​หลาย​ฉบับ โดย​เฉพาะ​หนังสือ​กิตติคุณ​เป็น​ส่วน​ที่​นิยม​อ่าน​กัน​มาก​ใน​สเปน​ยุค​กลาง ใน​ศตวรรษ​ที่ 8 จอห์น บิชอป​แห่ง​เซบียา​ได้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​เป็น​ภาษา​อาหรับ น่า​เสียดาย​ที่​ปัจจุบัน​ไม่​มี​ฉบับ​แปล​นี้​หลง​เหลือ​อยู่​เลย หนังสือ​กิตติคุณ​ฉบับ​ภาษา​อาหรับ​ชุด​หนึ่ง​จาก​สมัย​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 10 ถูก​เก็บ​รักษา​ไว้​ที่​วิหาร​แห่ง​เลออน ประเทศ​สเปน

ฉบับ​ภาษา​อาหรับ​ของ​หนังสือ​กิตติคุณ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 10

เผย​โฉม​พระ​คัมภีร์​ภาษา​สเปน

ใน​ช่วง​ปลาย​ยุค​กลาง ภาษา​สเปน​หรือ​คาสติเลียน​เริ่ม​ใช้​กัน​ใน​คาบสมุทร​ไอบีเรีย ภาษา​ใหม่​นี้​เป็น​ตัว​ขับ​เคลื่อน​สำคัญ​ที่​ทำ​ให้​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​แพร่​ไป​ถึง​ผู้​คน​อย่าง​รวด​เร็ว * มี​การ​พบ​ข้อ​คัมภีร์​ฉบับ​ภาษา​สเปน​ที่​เก่า​แก่​ที่​สุด​จาก​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 13 ใน​หนังสือ​ชื่อ ลา ฟาเซียนดา เด อุลทรา มาร์ (Deeds From Across the Seas) หนังสือ​นี้​มี​บันทึก​การ​เดิน​ทาง​ไป​อิสราเอล รวม​ทั้ง​ข้อ​ความ​จาก​หนังสือ​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เรียก​ว่า เพนทาทุก และ​หนังสือ​อื่น ๆ ใน​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู รวม​ทั้ง​กิตติคุณ​และ​จดหมาย​ของ​อัครสาวก

กษัตริย์​อัลฟองโซ​ที่ 10 เป็น​ผู้​สนับสนุน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​สเปน

ผู้​มี​อำนาจ​ของ​คริสตจักร​ไม่​พอ​ใจ​ฉบับ​แปล​นี้ ใน​ปี 1234 สภา​แห่ง​เมือง​ตาร์ราโกนา​มี​คำ​สั่ง​ว่า ใคร​ก็​ตาม​ที่​มี​หนังสือ​ทุก​อย่าง​ที่​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ภาษา​สเปน​ต้อง​นำ​ไป​ให้​นัก​เทศน์​ท้องถิ่น​เผา​ทำลาย​ให้​หมด แต่​คำ​สั่ง​นี้​ไม่​สามารถ​หยุด​ยั้ง​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​จริง ๆ เพราะ​ว่า​กษัตริย์​อัลฟองโซ​ที่ 10 (ค.ศ. 1252-1284) ซึ่ง​ถือ​ว่า​เป็น​ผู้​ริเริ่ม​การ​ใช้​ภาษา​สเปน​ใน​แบบ​ที่​เป็น​ภาษา​เขียน​ต้องการ​สนับสนุน​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาษา​สเปน ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น ฉบับ​แปล​ภาษา​สเปน​จาก​ยุค​นี้ รวม​ถึง​ก่อน​ยุค​อัลฟองซีน​ไบเบิล​ก็​เผย​โฉม​ออก​มา

พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​ก่อน​ยุค​อัลฟองซีน (ด้าน​ซ้าย) และ​ฉบับ​อัลฟองซีน (ด้าน​ขวา) ใน​ศตวรรษ​ที่ 13

ฉบับ​แปล​ทั้ง​สอง​ยุค​นี้​ได้​ช่วย​พัฒนา​ภาษา​สเปน​ที่​เพิ่ง​เริ่ม​ต้น​ให้​เป็น​รูป​เป็น​ร่าง​ขึ้น​มา นัก​วิชาการ​ชื่อ​โทมัส มอนต์โกเมอรี่ พูด​ถึง​พระ​คัมภีร์​ก่อน​ยุค​อัลฟองซีน​ไบเบิล​ว่า “ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​ได้​ผลิตผล​งาน​ชิ้น​เยี่ยม​ที่​ถือ​ว่า​มี​ความ​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​และ​เข้าใจ​ง่าย . . . ภาษา​ที่​ง่าย​และ​ชัดเจน​แบบ​นี้​จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​เพื่อ​คน​ที่​ไม่​รู้​ภาษา​ละติน​จะ​อ่าน​และ​เข้าใจ​ได้”

อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​ภาษา​สเปน​ยุค​แรก​แปล​มา​จาก​ฉบับ​ละติน​วัลเกต แทน​ที่​จะ​แปล​จาก​ภาษา​ดั้งเดิม เริ่ม​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่ 14 นัก​วิชาการ​ชาว​ยิว​หลาย​คน​ได้​ผลิต​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ที่​เป็น​ภาษา​สเปน​ออก​มา​หลาย​ฉบับ โดย​แปล​จาก​ภาษา​ฮีบรู​โดย​ตรง ตอน​นั้น​สเปน​เป็น​ประเทศ​ที่​มี​ชุมชน​ชาว​ยิว​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ยุโรป และ​ผู้​แปล​ชาว​ยิว​สามารถ​หา​สำเนา​พระ​คัมภีร์​ภาษา​ฮีบรู​ที่​อยู่​ใน​สภาพ​ดี​เพื่อ​นำ​มา​ใช้​ใน​การ​แปล​ได้ *

ฉบับ​อัลบา​ไบเบิล ซึ่ง​แปล​เสร็จ​ใน​ศตวรรษ​ที่ 15 เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​โดด​เด่น​มาก ลูอิส เด กูซมัง ขุนนาง​ชาว​สเปน​ที่​มี​ชื่อเสียง​สั่ง​ให้​รับบี​ที่​ชื่อ​โมยเซส อาราเคล แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​สเปน​กัสตีโซ (ดั้งเดิม) เขา​ให้​เหตุ​ผล​สอง​อย่าง​ที่​ขอ​ให้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล หนึ่ง “คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​โรมานซ์​ที่​ใช้​กัน​ใน​ตอน​นี้​ไม่​ได้​รับ​การ​แปล​อย่าง​ถูก​ต้อง” และ​สอง “ผู้​อ่าน​อย่าง​เรา​ต้องการ​หมายเหตุ​ริม​หน้า​กระดาษ​เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ข้อ​ความ​ที่​ยาก ๆ ได้” คำ​ขอ​ของ​โมยเซส​แสดง​ให้​เห็น​ว่า คน​ใน​สมัย​นั้น​อยาก​อ่าน​และ​อยาก​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​อย่าง​มาก และ​ยัง​แสดง​ว่า​ใน​เวลา​นั้น​พระ​คัมภีร์​ภาษา​สเปน​ได้​แพร่​หลาย​ไป​ทั่ว​ประเทศ​แล้ว

ผล​งาน​ของ​ผู้​แปล​และ​ผู้​คัด​ลอก​พระ​คัมภีร์​ใน​ยุค​กลาง​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​คน​ที่​มี​การ​ศึกษา​ใน​สเปน​สามารถ​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ใน​ภาษา​ที่​เข้าใจ​ได้​ง่าย นัก​ประวัติศาสตร์​ชื่อ​ฮวน ออร์ตส กอนซาเลซ ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ชาว​สเปน​รู้​จัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ดี​กว่า​คน​ที่​อยู่​ใน​เยอรมัน​หรือ​อังกฤษ​ก่อน​สมัย​ของ​ลูเทอร์​ด้วย​ซ้ำ”

“ชาว​สเปน​รู้​จัก​คัมภีร์​ไบเบิล​ดี​กว่า​คน​ที่​อยู่​ใน​เยอรมัน​หรือ​อังกฤษ​ก่อน​สมัย​ของ​ลูเทอร์​ด้วย​ซ้ำ”—ฮวน ออร์ตส กอนซาเลซ นัก​ประวัติศาสตร์

แต่​พอ​สิ้น​ศตวรรษ​ที่ 15 ศาล​ศาสนา​ใน​สเปน​สั่ง​ห้าม​ไม่​ให้​มี​การ​แปล​หรือ​มี​พระ​คัมภีร์​ไว้​ใน​ครอบครอง​ไม่​ว่า​ใน​ภาษา​ใด ๆ คัมภีร์​ไบเบิล​กลาย​เป็น​สิ่ง​ต้อง​ห้าม​ใน​สเปน​ตลอด​ช่วง​เวลา​ที่​มืดมน​นี้ แต่​ใน​เวลา​ที่​ยาก​ลำบาก​นี้​ก็​ยัง​มี​ผู้​แปล​ที่​กล้า​หาญ​บาง​คน​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาษา​สเปน​อยู่​ใน​ประเทศ​อื่น​และ​ลักลอบ​นำ​เข้า​มา หลัง​จาก​สาม​ศตวรรษ​ผ่าน​ไป​การ​สั่ง​ห้าม​ที่​ยาว​นาน​ก็​ถูก​ยก​เลิก *

ประวัติศาสตร์​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​สเปน​ยุค​กลาง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า พวก​ผู้​ต่อ​ต้าน​สรร​หา​วิธี​ต่าง ๆ เพื่อ​ขัด​ขวาง​ไม่​ให้​ประชาชน​ได้​อ่าน​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า แต่​พวก​เขา​ก็​ไม่​สามารถ​ทำ​ให้​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​ผู้​ทรง​ฤทธิ์​เงียบ​เสียง​ลง​ได้—บทเพลง​สรรเสริญ 83:1; 94:20

การ​ทำ​งาน​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​เหน็ด​เหนื่อย​ของ​ผู้​แปล​หลาย​คน​ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​สามารถ​หยั่ง​ราก​และ​แผ่​กิ่ง​ก้าน​สาขา​ไป​ทั่ว​สเปน​ยุค​กลาง ผู้​แปล​พระ​คัมภีร์​สมัย​ปัจจุบัน​เจริญ​รอย​ตาม​ผู้​แปล​ยุค​บุกเบิก​เหล่า​นั้น ซึ่ง​แปล​พระ​คัมภีร์​เป็น​ภาษา​ละติน กอทิก อาหรับ และ​สเปน ทุก​วัน​นี้​คน​ที่​พูด​ภาษา​สเปน​นับ​ล้าน ๆ สามารถ​อ่าน​คำ​สอน​ของ​พระเจ้า​ใน​ภาษา​ของ​ตัว​เอง​ซึ่ง​เป็น​ภาษา​ที่​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​พวก​เขา

^ วรรค 10 รวม​ถึง​ภาษา​คาสติเลียน คาตาลัน กาลีเซีย​และ​โปรตุเกส

^ วรรค 17 ทุก​วัน​นี้​มี​ผู้​คน​ประมาณ 540 ล้าน​คน​ใช้​ภาษา​สเปน​เป็น​ภาษา​หลัก

^ วรรค 23 ดู​บทความ “การ​ต่อ​สู้​ของ​คาซิโอโดโร เด เรย์นา เพื่อ​ให้​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ภาษา​สเปน” ใน​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มิถุนายน 1996