ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จากปก

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น—สาเหตุและวิธีช่วยเหลือ

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น—สาเหตุและวิธีช่วยเหลือ

แอนนา *เล่าว่า “ตอนที่ฉันมีอาการซึมเศร้า ฉันจะไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น แม้แต่อะไรที่ชอบก็ไม่อยากทำ อยากนอนอย่างเดียว ฉันรู้สึกว่าไม่มีใครรัก รู้สึกไร้ค่า และเป็นภาระของคนอื่น”

จูเลียเล่าว่า “ฉันเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แต่ไม่ได้อยากตายจริง ๆ หรอก แค่อยากให้ความรู้สึกแย่ ๆ มันจบ ๆ ไปซะที ปกติฉันก็เป็นห่วงและสนใจคนอื่นนะ แต่พอซึมเศร้า ฉันจะไม่ค่อยสนใจใครหรืออะไรทั้งนั้น”

แอนนาและจูเลียเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้าในช่วงที่พวกเธอเพิ่งเป็นวัยรุ่น จริง ๆ แล้ววัยรุ่นก็รู้สึกเศร้าบ้างในบางครั้ง แต่แอนนาและจูเลียมีอาการซึมเศร้าต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละครั้งอาจนานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แอนนาบอกว่า “ฉันเหมือนติดอยู่ในหลุมลึกที่มืดและไม่มีทางออก ฉันควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตัวเองไม่ได้ และรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ตัวฉัน”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับแอนนาและจูเลียไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีการตรวจพบว่าโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นมีอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง และองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังระบุด้วยว่า โรคซึมเศร้าเป็น “สาเหตุหลักของความเจ็บป่วยและทำให้มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายและจิตใจในหมู่เด็กชายหญิงที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 19 ปี”

อาการของโรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการนอน การกิน และน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไป และอาจมีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง โศกเศร้า และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า สัญญาณอื่น ๆ ที่พบด้วยคือ การแยกตัวจากสังคม มีปัญหาเกี่ยวกับความจำและสมาธิ เคยคิดหรือเคยพยายามฆ่าตัวตาย และมีอาการทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ ถ้าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขาจะมองหาอาการเหล่านี้ที่เป็นมานานหลายสัปดาห์ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

สาเหตุที่อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น

รายงานขององค์การอนามัยโลกบอกว่า “สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้ามีความซับซ้อนเพราะมีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคม ทางจิตใจ และทางร่างกาย” ซึ่งอาจรวมถึง

ปัจจัยทางกายภาพ เช่นเดียวกับกรณีของจูเลีย โรคซึมเศร้ามักเกิดกับสมาชิกในตระกูลหรือครอบครัวเดียวกัน โดยเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่อาจทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติ และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน นอกจากนั้น การใช้สารเสพติดอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า หรืออาจทำให้อาการที่มีอยู่แล้วรุนแรงขึ้น *

ความเครียด ความเครียดเล็กน้อยอาจส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ความเครียดที่รุนแรงและเรื้อรังจะส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้วัยรุ่นที่มีพันธุกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ นี่หมายความว่า สาเหตุจริง ๆ ของโรคซึมเศร้ายังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดและอาจเกิดจากหลายสาเหตุตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความเครียดอาจรวมถึงการที่พ่อแม่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่ การตายของคนที่เรารัก การถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุร้ายแรง หรือความบกพร่องทางการเรียนรู้ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับ นอกจากนั้น การที่วัยรุ่นไม่สามารถเรียนได้ดีตามเป้าหมายที่สูงเกินจริงของพ่อแม่ก็ทำให้เกิดความเครียดได้ และสาเหตุอื่น ๆ อาจเป็นเพราะถูกเพื่อนแกล้ง รู้สึกไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคต ครอบครัวไม่อบอุ่นเพราะมีพ่อหรือแม่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีพ่อแม่ที่อารมณ์แปรปรวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ถ้าวัยรุ่นเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว มีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยได้?

ดูแลร่างกายและจิตใจให้ดี

ส่วนใหญ่แล้ว โรคซึมเศร้าระดับปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรงต้องรักษาโดยใช้ยาและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต * พระเยซูคริสต์บอกว่า “คนแข็งแรงไม่ต้องไปหาหมอ แต่คนป่วยต้องให้หมอรักษา” (มาระโก 2:17) ความเจ็บป่วยสามารถส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายคุณ ไม่เว้นแม้แต่สมอง! ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตอาจเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะร่างกายและจิตใจส่งผลกระทบต่อกันและกัน

ถ้าคุณป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ขอให้คุณดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ทำให้กระปรี้กระเปร่า และนอนหลับสบายขึ้น ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามสังเกตว่าอะไรกระตุ้นคุณให้มีอาการซึมเศร้า มีสัญญาณเตือนอะไรที่ทำให้รู้ว่าคุณกำลังจะเริ่มซึมเศร้า และเตรียมแผนการที่เหมาะสมในการรับมือ ระบายความรู้สึกกับคนที่คุณไว้ใจ สมาชิกครอบครัวและเพื่อนสนิทที่คอยให้กำลังใจจะทำให้คุณรับมือกับโรคซึมเศร้าได้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาอาการของคุณได้ การจดบันทึกความคิดและความรู้สึกของคุณเป็นอีกวิธีที่ช่วยได้ จูเลียเด็กสาวที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ให้คุณทำกิจกรรมที่เสริมสร้างความเชื่อในพระเจ้า เพราะวิธีนี้จะช่วยคุณอย่างมากให้มีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับชีวิต พระเยซูบอกว่า “คนที่รู้ตัวว่าจำเป็นต้องพึ่งพระเจ้าก็มีความสุข”—มัทธิว 5:3

กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับให้เพียงพอ

การทำสิ่งที่เสริมสร้างความเชื่อจะช่วยให้คุณมีกำลังใจมากขึ้น

ทั้งแอนนาและจูเลียยืนยันว่าคำพูดของพระเยซูเป็นเรื่องจริง แอนนาเล่าว่า “กิจกรรมที่เสริมสร้างความเชื่อในพระเจ้าทำให้ฉันสนใจคนอื่นมากขึ้นและไม่หมกมุ่นแต่ปัญหาของตัวเอง ถึงแม้จะไม่ง่ายแต่ก็ช่วยให้มีความสุขมากขึ้นได้จริง ๆ” ส่วนจูเลียก็รู้สึกดีขึ้นเพราะเธออธิษฐานและอ่านคัมภีร์ไบเบิล เธอบอกว่า “พอฉันอธิษฐานระบายทุกสิ่งที่อยู่ในใจกับพระเจ้า ฉันก็รู้สึกสบายใจขึ้น และการอ่านคัมภีร์ไบเบิลช่วยให้ฉันรู้ว่าฉันมีค่ามากในสายตาของพระเจ้า พระองค์ห่วงใยฉันจริง ๆ และยังช่วยให้ฉันมองอนาคตในแง่ดีอีกด้วย”

พระยะโฮวาพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์ พระองค์รู้ดีว่า การอบรมเลี้ยงดู ประสบการณ์ในชีวิต และพันธุกรรมมีผลต่อมุมมองและอารมณ์ของเรา ดังนั้น พระองค์สามารถให้การช่วยเหลือที่จำเป็นและให้กำลังใจเราได้ พระองค์อาจทำแบบนั้นโดยให้คนที่มีความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจมาช่วยเรา ยิ่งกว่านั้น ในอนาคตพระยะโฮวาจะทำให้ความเจ็บป่วยของเราหมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ เพราะข้อความในคัมภีร์ไบเบิลที่อิสยาห์ 33:24 บอกว่า “จะไม่มีใครที่อยู่ในแผ่นดินนั้นพูดว่า ‘ฉันป่วย’”

ใช่แล้ว คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่า พระเจ้า “จะเช็ดน้ำตาทุกหยดจากตาของพวกเขา ความตายจะไม่มีอีกต่อไป ความโศกเศร้าหรือเสียงร้องไห้เสียใจหรือความเจ็บปวดจะไม่มีอีกเลย” (วิวรณ์ 21:4) ข้อคัมภีร์นี้ให้กำลังใจเรามากจริง ๆ! ถ้าคุณอยากเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์และโลก เราขอเชิญคุณเข้าไปที่เว็บไซต์ jw.org/th ซึ่งคุณจะสามารถอ่านคัมภีร์ไบเบิลออนไลน์ได้ และยังมีบทความน่าอ่านอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องโรคซึมเศร้าด้วย

^ วรรค 3 ชื่อสมมุติ

^ วรรค 10 มีโรค ยารักษาโรค และยาเสพติดหลายร้อยชนิดที่อาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกได้ ดังนั้น จึงสำคัญที่จะได้รับการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้รู้แน่ชัดว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ หรือไม่

^ วรรค 14 ตื่นเถิด! ไม่ได้สนับสนุนวิธีการรักษาหรือวิธีบำบัดแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ