ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

 กุญแจสู่ความสุขในครอบครัว

เมื่อคุณมีลูกพิการ

เมื่อคุณมีลูกพิการ

คาร์โล: * “อันเจโลลูกชายของเราเป็นดาวน์ซินโดรม. การดูแลเขาทำให้เราเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ. ลำพังการเลี้ยงเด็กที่เกิดมาปกติก็ยากอยู่แล้ว แต่การดูแลเด็กพิการยิ่งยากกว่าเป็นร้อยเท่า. บางครั้งการมีลูกพิการก็สร้างปัญหาให้กับชีวิตสมรสของเรา.”

มีอา: “กว่าเราจะสอนอันเจโลให้ทำอะไรสักอย่างแม้แต่เรื่องที่ง่ายที่สุดก็ต้องใช้ความพยายามและความอดทนสูง. ถ้าเหนื่อยมากๆเข้า ฉันก็มักจะหงุดหงิดใส่คาร์โลสามีของฉัน. บางครั้งเมื่อเรามีความเห็นไม่ตรงกัน สักพักเราก็จะทะเลาะกัน.”

คุณจำวันแรกที่ลูกของคุณลืมตาดูโลกได้ไหม? คุณคงอยากอุ้มลูกจนแทบจะรอไม่ไหว. แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีประสบการณ์เหมือนคาร์โลกับมีอา ในความปลาบปลื้มยินดีนั้นมีความกังวลแฝงอยู่เมื่อหมอบอกว่าลูกป่วยหรือพิการ.

คุณเป็นคนหนึ่งที่มีลูกพิการไหม? คุณคงสงสัยว่าจะเลี้ยงดูเขาได้อย่างไร? คุณอาจรู้สึกกังวล แต่อย่าเพิ่งหมดหวัง. พ่อแม่หลายคนที่มีลูกพิการเช่นเดียวกับคุณก็ยังประสบความสำเร็จมาแล้ว. ขอพิจารณาปัญหาสามประการที่อาจเกิดขึ้นกับคุณ และดูว่าคำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิลจะช่วยได้อย่างไร.

ปัญหา 1: คุณไม่อาจทำใจได้ว่าลูกของคุณพิการ.

พ่อแม่หลายคนแทบหัวใจสลายเมื่อรู้ว่าลูกมีความผิดปกติบางอย่าง. จูเลียนาแม่คนหนึ่งในเม็กซิโกบอกว่า “ฉันแทบไม่ เชื่อหูตัวเองตอนที่หมอบอกว่าซันตีอาโกลูกชายของฉันเป็นโรคอัมพาตสมองใหญ่. ฉันรู้สึกเหมือนโลกทั้งโลกถล่มลงมาทับ.” บางคนอาจรู้สึกเหมือนวิลลานาแม่คนหนึ่งในอิตาลีที่บอกว่า “ฉันตัดสินใจมีลูกทั้งๆที่รู้ว่ามันเสี่ยงมากสำหรับผู้หญิงอายุขนาดฉัน. และเมื่อลูกชายเป็นดาวน์ซินโดรม ฉันจึงรู้สึกผิดเหลือเกิน.”

ถ้าคุณกำลังต่อสู้กับความท้อแท้สิ้นหวังหรือความรู้สึกผิด ขอให้รู้ว่าความรู้สึกเช่นนั้นเป็นเรื่องธรรมดา. ความเจ็บป่วยไม่ใช่พระประสงค์แรกเดิมของพระเจ้า. (เยเนซิศ 1:27, 28) พระองค์ไม่ได้สร้างมนุษย์ให้ยอมรับความผิดปกติได้ง่ายๆ. ฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณจะรู้สึก “เศร้า” เมื่อลูกของคุณป่วยหรือเกิดมาผิดปกติ. คุณคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะทำใจยอมรับและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้.

จะว่าอย่างไรถ้าคุณรู้สึกว่าเป็นความผิดของคุณที่ลูกเกิดมาพิการ? ขอให้จำไว้ว่า ไม่มีใครสามารถเข้าใจอย่างแท้จริงว่ากรรมพันธุ์ สภาพแวดล้อม หรือปัจจัยอื่นๆมีผลอย่างไรต่อสุขภาพของเด็ก. ในอีกด้านหนึ่ง คุณอาจอยากโยนความผิดไปให้คู่สมรสของคุณ. ขออย่าได้คิดเช่นนั้น. ถ้าคุณร่วมมือกับคู่สมรสและตั้งใจดูแลลูกของคุณให้ดี คุณจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่า.—ท่านผู้ประกาศ 4:9, 10

ข้อแนะ: พยายามหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคที่ลูกเป็น. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ครอบครัวจะเจริญก็ด้วยสติปัญญา และครอบครัวจะมั่นคงก็ด้วยความเข้าใจ.”—สุภาษิต 24:3, ล.ม.

คุณอาจได้ข้อมูลหลายอย่างจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและหนังสือต่างๆที่เชื่อถือได้. การเรียนรู้จักโรคของลูกอาจเปรียบได้กับการเรียนภาษาใหม่. ตอนแรกคุณอาจรู้สึกว่ายาก แต่จริงๆแล้วเรื่องนี้ไม่ยากเกินความสามารถของคุณ.

คาร์โลกับมีอาที่กล่าวถึงตอนต้นไปปรึกษาแพทย์ที่รักษาลูกและองค์กรที่เชี่ยวชาญเรื่องเด็กดาวน์ซินโดรมโดยเฉพาะ. พวกเขาเล่าว่า “การทำอย่างนี้นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาของเด็กดาวน์ซินโดรมแล้ว เรายังได้รู้ว่ามีอะไรหลายอย่างที่ลูกสามารถทำได้เหมือนเด็กปกติ ซึ่งทำให้เราสบายใจขึ้นมาก.”

ลองวิธีนี้: คิดถึงสิ่งที่ลูกของคุณทำได้. หากิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวทำร่วมกันได้. เมื่อลูกทำอะไร “สำเร็จ” แม้แต่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ต้องรีบชมเชยและร่วมความยินดีกับเขา.

ปัญหา 2: คุณเหนื่อยล้าและรู้สึกว่าไม่มีใครที่จะปรับทุกข์ได้.

คุณอาจรู้สึกว่าการดูแลลูกที่ป่วยทำให้คุณหมดเรี่ยวหมดแรง. เจนนี แม่คนหนึ่งในนิวซีแลนด์บอกว่า “ช่วงสองสามปีหลังจากหมอพบว่าลูกชายของฉันเป็นโรคไขสันหลังไม่ปิด ฉันแทบไม่ได้ทำงานอย่างอื่นเลยนอกจากงานบ้านทั่วๆไป. ถ้าฉันทำอะไรมากกว่านี้ฉันจะเหนื่อยมาก แล้วก็ได้แต่ร้องไห้.”

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ คุณอาจรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง. เบน มีลูกชายที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อลีบและโรคแอสเพอร์เกอร์. เบนเล่าว่า “คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรอกว่าชีวิตของเราเป็นอย่างไร.” คุณอาจต้องการจะคุยกับใครสักคน แต่เพื่อนๆส่วนใหญ่ก็มีลูกปกติกันทั้งนั้น. ดังนั้น คุณจึงไม่อยากเล่าอะไรให้พวกเขาฟัง.

ข้อแนะ: จงขอความช่วยเหลือ และอย่าปฏิเสธเมื่อมีคนพร้อมจะยื่นมือเข้าช่วย. จูเลียนา ที่กล่าวถึงตอนต้นยอมรับว่า “บางทีฉันกับสามีก็ไม่กล้าเอ่ยปากขอให้ใครช่วย.” แต่เธอบอกว่า “เราได้เรียนรู้ว่าเราไม่สามารถทำอะไรเองได้ทุกอย่าง และถ้าเราพึ่งคนอื่นบ้าง เราก็จะไม่รู้สึกโดดเดี่ยว.” ถ้าเพื่อนสนิทหรือญาติบอกว่าเขายินดีนั่งกับลูกของคุณเมื่อไปงานสังสรรค์หรือในการประชุมคริสเตียน คุณควรขอบคุณและตอบรับน้ำใจของเขา. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “มิตรสหายย่อมรักกันอยู่ทุกเวลา, และพี่ชายน้องชายก็เกิดมาสำหรับช่วยกันในเวลาทุกข์ยาก.”—สุภาษิต 17:17

คุณต้องไม่ลืมดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย. เช่นเดียวกับรถพยาบาลที่ต้องเติมน้ำมันหรือแก๊สเป็นประจำเพื่อจะวิ่งรับส่งผู้ป่วยได้ตลอด คุณเองก็ต้องเติมพลังด้วยอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อจะมีเรี่ยวแรงดูแลลูกที่คุณรักต่อไป. กาวีเยอ ซึ่งมีลูกชายพิการบอกว่า “ลูกชายฉันเดินไม่ได้ ฉันจึงคิดว่าฉันต้องพยายามกินอาหารที่มีประโยชน์. ฉันต้องคอยอุ้มเขาไปโน่นไปนี่. เท้าของฉันก็คือเท้าของเขา!”

แต่คุณจะเอาเวลาที่ไหนมาดูแลสุขภาพล่ะ? พ่อแม่บางคนผลัดกันดูแลลูก. ระหว่างที่คนหนึ่งอยู่กับลูก อีกคนหนึ่งก็มีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวอื่นๆ. แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณต้องตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกไปบ้างเพื่อจะมีเวลามากขึ้น. มยุรี แม่คนหนึ่งในอินเดียบอกว่า “ในที่สุด คุณจะจัดเวลาให้ลงตัวได้.”

 จงพูดคุยกับเพื่อนที่คุณไว้ใจ. แม้แต่เพื่อนที่ไม่มีลูกพิการก็เป็นผู้ฟังที่ดีและเห็นอกเห็นใจได้. นอกจากนั้น คุณยังสามารถอธิษฐานถึงพระยะโฮวาพระเจ้า. การอธิษฐานจะช่วยได้จริงๆไหม? ยัสมิน ซึ่งมีลูกสองคนที่เป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบย่อยอาหาร) ยอมรับว่า “บางครั้งฉันรู้สึกเครียดมากเหมือนกำลังถูกบีบคอจนแทบจะขาดใจตาย.” แต่เธอบอกว่า “ฉันอธิษฐานขอกำลังและการปลอบโยนจากพระยะโฮวา. หลังจากนั้นฉันก็รู้สึกว่ามีเรี่ยวแรงที่จะไปต่อได้.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:18

ลองวิธีนี้: ขอให้สังเกตว่าแต่ละวันคุณรับประทานอะไร ออกกำลังกายเมื่อไร และนอนหลับเพียงพอหรือไม่. ลองคิดดูว่าคุณจะตัดทอนกิจกรรมที่ไม่สำคัญออกไปเพื่อเอาเวลามาดูแลสุขภาพของตนเองให้มากขึ้นได้อย่างไร. คุณอาจปรับเปลี่ยนตารางเวลาได้เรื่อยๆเมื่อเห็นว่าจำเป็น.

ปัญหา 3: คุณทุ่มเทเวลาให้กับลูกที่ป่วยจนละเลยสมาชิกคนอื่นในครอบครัว.

การป่วยของลูกอาจส่งผลต่ออาหารการกินในครอบครัว การพักผ่อนหย่อนใจ และเวลาที่พ่อแม่จะให้กับลูกแต่ละคน. ผลคือ ลูกคนอื่นๆอาจรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง. นอกจากนั้น ถ้าคุณทุ่มเทเวลาให้กับลูกที่ป่วยมากเกินไป ความสัมพันธ์ของคุณกับคู่สมรสก็อาจได้รับผลกระทบ. ไลออเนล พ่อคนหนึ่งในไลบีเรียบอกว่า “บางครั้งภรรยาก็บ่นว่าเธอต้องแบกภาระอยู่คนเดียวและผมไม่ช่วยดูแลลูกเลย. ผมรู้สึกน้อยใจและบางทีผมก็ปฏิบัติต่อเธอแบบไม่กรุณา.”

ข้อแนะ: หาเวลาทำกิจกรรมที่ลูกแต่ละคนชอบ เพื่อให้พวกเขารู้ว่าคุณสนใจลูกทุกคนเท่าเทียมกัน. เจนนีที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “บางครั้งเราก็ทำอะไรพิเศษให้ลูกชายคนโต เช่น ไม่นานมานี้เราเพิ่งพาเขาไปกินอาหารที่ร้านโปรดของเขา.”

จงให้ความสนใจลูกทุกคนเท่าเทียมกัน

จงพยายามรักษาสายสมรสเอาไว้โดยพูดคุยและอธิษฐานกับคู่ของคุณเป็นประจำ. อาซีม พ่อคนหนึ่งในอินเดียซึ่งมีลูกเป็นโรคลมชักบอกว่า “แม้บางครั้งผมกับภรรยาจะรู้สึกเหนื่อยหรืออารมณ์ไม่ดี แต่เราจะหาเวลานั่งคุยกันและอธิษฐานด้วยกันเสมอ. ก่อนลูกตื่นนอนตอนเช้า เราจะอ่านและพิจารณาคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันข้อหนึ่ง.” สามีภรรยาบางคู่อาจจัดเวลาไว้คุยกันก่อนเข้านอน. การใช้เวลาพูดคุยกันตามลำพังและการอธิษฐานจากใจจริงจะช่วยรักษาสายสมรสของคุณให้แน่นแฟ้นเมื่อเผชิญความเครียด. (สุภาษิต 15:22) คู่สมรสคู่หนึ่งกล่าวว่า “หลายครั้งช่วงเวลาที่หวานชื่นและมีความสุขมากที่สุดก็คือเวลาที่เราเจอปัญหาหนักที่สุดในชีวิต.”

ลองวิธีนี้: จงชมเชยลูกคนอื่นๆที่ช่วยคุณเอาใจใส่ดูแลลูกที่ป่วย. แสดงออกให้ลูกๆและคู่สมรสของคุณรู้เสมอว่าคุณรักและเห็นคุณค่าพวกเขา.

มองแง่บวกเสมอ

คัมภีร์ไบเบิลสัญญาว่าอีกไม่นานพระเจ้าจะขจัดโรคภัยและความพิการทุกอย่างที่ก่อความทุกข์แก่เด็กและผู้ใหญ่ให้หมดไป. (วิวรณ์ 21:3, 4) เมื่อถึงเวลานั้น “จะไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’” *ยะซายา 33:24

ในตอนนี้ คุณสามารถเป็นพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จได้แม้มีลูกพิการ. คาร์โลกับมีอาที่กล่าวถึงตอนต้นบอกว่า “อย่าเพิ่งท้อใจถ้าอะไรๆไม่ได้เป็นอย่างที่คุณวางแผนไว้. ขอให้คิดถึงเรื่องดีๆเกี่ยวกับลูกของคุณ ซึ่งความจริงแล้วมีอยู่มากมายทีเดียว.”

^ วรรค 3 ชื่อในบทความนี้เป็นชื่อสมมุติ.

^ วรรค 29 คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำสัญญาในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องสุขภาพที่สมบูรณ์ได้ในบท 3 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.

ถามตัวเองว่า . . .

  • ฉันทำอะไรบ้างเพื่อรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงสัมพันธภาพกับพระเจ้าให้เข้มแข็งอยู่เสมอ?
  • ฉันชมเชยลูกที่คอยช่วยเหลือฉันครั้งสุดท้ายเมื่อไร?