ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กุญแจ​สู่​ความ​สุข​ใน​ครอบครัว

เมื่อลูกวัยรุ่นสงสัยความเชื่อทางศาสนาของคุณ

เมื่อลูกวัยรุ่นสงสัยความเชื่อทางศาสนาของคุณ

เมื่อ​พวก​เขา​เริ่ม​โต​ขึ้น หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​เลือก​ที่​จะ​นับถือ​ศาสนา​เดียว​กับ​พ่อ​แม่. (2 ติโมเธียว 3:14) แต่​บาง​คน​ก็​ไม่​ทำ​เช่น​นั้น. คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ถ้า​ลูก​วัยรุ่น​เริ่ม​สงสัย​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​คุณ? บทความ​นี้​จะ​อธิบาย​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทำ​อย่าง​ไร​เมื่อ​เกิด​ปัญหา​เช่น​นี้.

“ฉัน​ไม่​อยาก​นับถือ​ศาสนา​เดียว​กับ​พ่อ​แม่​อีก​ต่อ​ไป. ฉัน​จะ​เลิก​ทำ​ตาม​ท่าน​แล้ว.”—โครา อายุ 18 ปี *

คุณ​มั่น​ใจ​ว่า​ศาสนา​ที่​คุณ​นับถือ​สอน​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า. คุณ​เชื่อ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ให้​รู้​จัก​แนว​ทาง​ชีวิต​ที่​ดี​ที่​สุด. ดัง​นั้น เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​คุณ​จะ​ปลูกฝัง​ค่า​นิยม​ของ​คุณ​ให้​ลูก. (พระ​บัญญัติ 6:6, 7) แต่​จะ​ว่า​อย่าง​ไร​ถ้า​ลูก​โต​ขึ้น​และ​เขา​ไม่​สนใจ​จะ​เรียน​รู้​เรื่อง​พระเจ้า​อีก​ต่อ​ไป? คุณ​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ถ้า​เขา​เริ่ม​สงสัย​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ที่​เขา​เคย​กระตือรือร้น​ที่​จะ​เรียน​รู้​เมื่อ​เป็น​เด็ก?—กาลาเทีย 5:7

ถ้า​เกิด​ปัญหา​เช่น​นี้ อย่า​เพิ่ง​สรุป​ว่า​คุณ​เป็น​พ่อ​แม่​คริสเตียน​ที่​ใช้​ไม่​ได้. เรื่อง​นี้​ขึ้น​อยู่​กับ​ปัจจัย​อื่น ๆ ด้วย ดัง​ที่​เรา​จะ​พิจารณา​ต่อ​ไป. แต่​ขอ​ให้​จำ​ไว้​ว่า​ท่าที​และ​การ​ตอบ​สนอง​ของ​คุณ​เมื่อ​ลูก​วัยรุ่น​เริ่ม​สงสัย​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​จะ​เป็น​เครื่อง​ตัดสิน​ว่า​เขา​จะ​เลือก​ยึด​มั่น​หรือ​ผลัก​ไส ความ​เชื่อ​ที่​คุณ​พร่ำ​สอน​เขา. ถ้า​คุณ​ตอบ​โต้​ด้วย​ท่าที​แข็ง​กร้าว​เหมือน​เป็น​ศัตรู​กับ​ลูก คุณ​ก็​ต้อง​ต่อ​สู้​กัน​อย่าง​ดุเดือด และ​นี่​จะ​เป็น​สงคราม​ที่​คุณ​ไม่​มี​ทาง​ชนะ​ได้​เลย.—โกโลซาย 3:21

คง​จะ​ดี​กว่า​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​ฟัง​คำ​เตือน​ของ​อัครสาวก​เปาโล. ท่าน​เขียน​ว่า “ทาส​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไม่​ควร​ทะเลาะ​วิวาท แต่​ต้อง​สุภาพ​อ่อนโยน​ต่อ​ทุก​คน มี​คุณวุฒิ​ที่​จะ​สอน รู้​จัก​อด​กลั้น.” (2 ติโมเธียว 2:24) คุณ​จะ​แสดง​ให้​เห็น​อย่าง​ไร​ว่า​คุณ “มี​คุณวุฒิ​ที่​จะ​สอน” ถ้า​ลูก​วัยรุ่น​สงสัย​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​คุณ?

มอง​ปัญหา​ให้​ออก

ก่อน​อื่น คุณ​ต้อง​พยายาม​มอง​ให้​ออก​ว่า​อะไร​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​ลูก​คิด​อย่าง​นั้น. ตัว​อย่าง​เช่น:

  • เขา​รู้สึก​เหงา​และ​ไม่​มี​เพื่อน​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​ไหม? “ฉัน​อยาก​มี​เพื่อน ฉัน​เลย​ไป​สนิท​กับ​เพื่อน ๆ ที่​โรง​เรียน แต่​การ​ทำ​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​ฉัน​ไม่​ได้​พัฒนา​ความ​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​เป็น​เวลา​หลาย​ปี. การ​คบหา​สมาคม​ที่​ไม่​ดี​ทำ​ให้​ฉัน​ไม่​อยาก​ทำ​กิจวัตร​คริสเตียน​อีก​ต่อ​ไป แต่​ตอน​นี้​ฉัน​รู้สึก​เสียใจ​มาก.”—เลนอร์ อายุ 19 ปี

  • เขา​ขาด​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง​จน​ไม่​กล้า​พูด​เรื่อง​ศาสนา​กับ​เพื่อน ๆ ไหม? “ตอน​ผม​เป็น​นัก​เรียน ผม​ไม่​กล้า​พูด​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​ผม​กับ​เพื่อน​ใน​ชั้น​เรียน. ผม​กลัว​เพื่อน ๆ จะ​มอง​ผม​เป็น​ตัว​ประหลาด​หรือ​ไม่​ก็​เรียก​ผม​ว่า ‘หลวง​พ่อ.’ ถ้า​เด็ก​คน​ไหน​ทำ​ตัว​ต่าง​จาก​คน​อื่น​ก็​จะ​ไม่​มี​ใคร​ยอม​คบ​ด้วย ผม​ไม่​อยาก​เป็น​อย่าง​นั้น.”—รา​มอน อายุ 23 ปี

  • เขา​รู้สึก​ว่า​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ตาม​มาตรฐาน​ของ​คริสเตียน​เป็น​สิ่ง​ที่​ยาก​เกิน​ไป​ไหม? “หนู​รู้สึก​ว่า​คำ​สัญญา​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​เรื่อง​ชีวิต​นิรันดร์​อยู่​บน​ขั้น​สูง​สุด​ของ​บันได​ที่​สูง​ลิบ และ​หนู​ยัง​ไม่​ได้​ก้าว​ขึ้น​บันได​เลย​แม้​แต่​ขั้น​เดียว หนู​รู้สึก​ว่า​คำ​สัญญา​นั้น​อยู่​ไกล​เกิน​เอื้อม. หนู​กลัว​เหลือ​เกิน​เมื่อ​คิด​ว่า​ต้อง​ปีน​ขึ้น​บันได​ที่​สูง​ขนาด​นั้น หนู​เลย​คิด​ว่า​ไม่​เอา​ดี​กว่า.”—เรอเน อายุ 16 ปี

หัน​หน้า​มา​คุย​กัน

ที่​จริง​แล้ว อะไร​อาจ​เป็น​สาเหตุ​ที่​ทำ​ให้​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ รู้สึก​เช่น​นั้น? วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​รู้​คำ​ตอบ​ก็​คือ​ถาม​ลูก! แต่​คุณ​ต้อง​ระวัง​ไม่​ให้​การ​พูด​คุย​กับ​ลูก​กลาย​เป็น​การ​ทะเลาะ​โต้​เถียง​กัน. ขอ​ให้​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​ยาโกโบ 1:19 ที่​ว่า “ทุก​คน​ต้อง​ไว​ใน​การ​ฟัง ช้า​ใน​การ​พูด ช้า​ใน​การ​โกรธ.” จง​อด​ทน​กับ​ลูก. ขอ​ให้​ใช้ ‘ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​ศิลปะ​ใน​การ​สอน’ เหมือน​กับ​ที่​คุณ​ปฏิบัติ​ต่อ​คน​อื่น ๆ ที่​ไม่​ได้​อยู่​ใน​ครอบครัว​ของ​คุณ.—2 ติโมเธียว 4:2

ตัว​อย่าง​เช่น ถ้า​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​ไม่​อยาก​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​คริสเตียน คุณ​ควร​พยายาม​หา​สาเหตุ​ว่า​อะไร​ทำ​ให้​เขา​ไม่​อยาก​ไป. แต่​คุณ​ต้อง​ใจ​เย็น ๆ. ถ้า​คุณ​เป็น​เหมือน​กับ​พ่อ​ใน​ฉาก​การ​สนทนา​ข้าง​ล่าง​นี้ ความ​พยายาม​ของ​คุณ​คง​จะ​ล้มเหลว.

ลูก: ผม​ไม่​อยาก​ไป​ประชุม​แล้ว.

พ่อ: [พูด​เสียง​แข็ง] ที่​บอก​ว่า​ไม่​อยาก​ไป ลูก​หมาย​ความ ว่า​ยัง​ไง?

ลูก: ผม​คิด​ว่า​มัน​น่า​เบื่อ ก็​แค่​นั้น!

พ่อ: ลูก​รู้สึก​อย่าง​นั้น กับ​พระเจ้า​หรือ? ลูก​คิด​ว่า​พระองค์​น่า​เบื่อ หรือ? คิด​ได้​ยัง​ไง! ตราบ​ใด​ที่​ลูก​ยัง​อยู่​ใน​บ้าน​หลัง​นี้ ไม่​ว่า​จะ​ชอบ​หรือ​ไม่​ชอบ ลูก​ก็​ต้อง​ไป!

พระเจ้า​ต้องการ​ให้​พ่อ​แม่​สอน​ลูก​เกี่ยว​กับ​พระองค์ และ​ต้องการ​ให้​ลูก​เชื่อ​ฟัง​พ่อ​แม่. (เอเฟโซส์ 6:1) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คุณ​คง​ไม่​ต้องการ​ให้​ลูก​ทำ​กิจวัตร​คริสเตียน​ตาม​คุณ​โดย​ไม่​เต็ม​ใจ​และ​ต้อง​ฝืน​ใจ​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​กับ​คุณ. ถ้า​เป็น​ได้​คุณ​คง​อยาก​ให้​เขา​ไป​กับ​คุณ​ทั้ง​ตัว​และ​หัวใจ.

คุณ​จะ​มี​โอกาส​ประสบ​ความ​สำเร็จ​มาก​กว่า​ถ้า​คุณ​มอง​ออก​ว่า​อะไร​คือ​ปัญหา​ที่​แท้​จริง​ของ​ลูก. เมื่อ​คิด​ถึง​เรื่อง​นี้ ขอ​ให้​พิจารณา​ว่า​พ่อ​ใน​ฉาก​สนทนา​ข้าง​ต้น​จะ​เปลี่ยน​วิธี​พูด​ให้​ดี​ขึ้น​ได้​อย่าง​ไร.

ลูก: ผม​ไม่​อยาก​ไป​ประชุม​แล้ว.

พ่อ: [พูด​อย่าง​ใจ​เย็น] ทำไม​ลูก​คิด​อย่าง​นั้น​ล่ะ?

ลูก: ผม​คิด​ว่า​มัน​น่า​เบื่อ ก็​แค่​นั้น!

พ่อ: การ​นั่ง​ฟัง​เป็น​ชั่วโมง ๆ ก็​อาจ น่า​เบื่อ​จริง ๆ. แต่​อะไร​ทำ​ให้​ลูก​รู้สึก​เบื่อ​มาก​ที่​สุด?

ลูก: ไม่​รู้​สิ. ผม​ก็​แค่​อยาก​ไป​ที่​อื่น​มาก​กว่า.

พ่อ: เพื่อน ๆ ของ​ลูก​รู้สึก​อย่าง​นั้น​ด้วย​ไหม?

ลูก: เอ่อ ไม่​รู้​สิ​พ่อ! ก็​ตอน​นี้​ผม​ไม่​มี เพื่อน​เลย​สัก​คน. ตั้ง​แต่​เพื่อน​สนิท​ของ​ผม​ย้าย​ไป ผม​ก็​ไม่​รู้​จะ​คุย​กับ​ใคร! ทุก​คน​คุย​กัน​สนุกสนาน แต่​ไม่​มี​ใคร​คุย​กับ​ผม​เลย!

พ่อ​ที่​พยายาม​ตะล่อม​ถาม​ความ​รู้สึก​ของ​ลูก​อย่าง​ใจ​เย็น​เช่น​นี้ นอก​จาก​จะ​ได้​เข้าใจ​ว่า​อะไร​คือ​ปัญหา​ที่​แท้​จริง​ของ​ลูก​แล้ว (ใน​กรณี​นี้​คือ​ความ​เหงา) เขา​ยัง​สามารถ​สร้าง​ความ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กับ​ลูก​และ​เปิด​โอกาส​ให้​มี​การ​พูด​คุย​กัน​มาก​ขึ้น​ต่อ​ไป.—ดู​กรอบ  “จง​อด​ทน!”

เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​ได้​เรียน​รู้​ว่า​ถ้า​พวก​เขา​เอา​ชนะ​ปัญหา​ที่​เป็น​อุปสรรค​ต่อ​การ​พัฒนา​สาย​สัมพันธ์​ที่​ใกล้​ชิด​กับ​พระเจ้า​ได้ พวก​เขา​ก็​จะ​มี​ความ​รู้สึก​ที่​ดี​ขึ้น​ต่อ​ตัว​เอง​และ มั่น​ใจ​ใน​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​ตน​มาก​ขึ้น. ขอ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​รา​มอน​เด็ก​หนุ่ม​ที่​กล่าว​ถึง​ก่อน​หน้า​นี้​ซึ่ง​ไม่​กล้า​บอก​เพื่อน​ที่​โรง​เรียน​ว่า​เขา​เป็น​คริสเตียน. ใน​ที่​สุด รา​มอน​ก็​รู้​ว่า​การ​บอก​คน​อื่น​เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ไม่​ได้​เป็น​เรื่อง​น่า​กลัว​อย่าง​ที่​คิด แม้​ว่า​บาง​ครั้ง​เขา​อาจ​ถูก​เพื่อน​เยาะเย้ย​ก็​ตาม. เขา​เล่า​ว่า:

“ครั้ง​หนึ่ง เพื่อน​นัก​เรียน​คน​หนึ่ง​ล้อเลียน​ผม​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ของ​ผม. ผม​เครียด​และ​กลัว​มาก และ​ผม​รู้สึก​ว่า​เพื่อน​ทั้ง​ชั้น​กำลัง​ฟัง​อยู่. แต่​ผม​ก็​ตัดสิน​ใจ​ย้อน​ถาม​เขา เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ของ​เขา เอง. ผม​ประหลาด​ใจ​ที่​เห็น​ว่า​เขา​เครียด​มาก​กว่า​ผม​อีก! ตั้ง​แต่​นั้น​ผม​ก็​รู้​ว่า​เด็ก​หนุ่ม​สาว​หลาย​คน​มี​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​แต่​ไม่​รู้​อะไร​เลย​เกี่ยว​กับ​ศาสนา​ของ​ตัว​เอง. ผม​ก็​ยัง​ดี​กว่า​พวก​เขา​เพราะ​ผม​อธิบาย ความ​เชื่อ​ของ​ผม​ได้. ที่​จริง เมื่อ​พูด​ถึง​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา คน​ที่​น่า​จะ​รู้สึก​เครียด​และ​อึดอัด​ก็​คือ​เพื่อน​ร่วม​ชั้น ของ​ผม ไม่​ใช่​ผม!”

ลอง​วิธี​นี้: พยายาม​ตะล่อม​ถาม​ลูก​ว่า​เขา​รู้สึก​อย่างไร​กับ​การ​เป็น​คริสเตียน. เขา​คิด​ว่า​การ​เป็น​คริสเตียน​มี​ข้อ​ดี​ข้อ​เสีย​อย่าง​ไร? ข้อ​ดี​มี​มาก​กว่า​ข้อ​เสีย​ไหม? และ​ให้​ลูก​อธิบาย​ว่า​ทำไม​จึง​ตอบ​เช่น​นั้น. (มาระโก 10:29, 30) คุณ​อาจ​ให้​ลูก​วัยรุ่น​เขียน​คำ​ตอบ​ของ​เขา​ลง​ใน​กระดาษ​ที่​แบ่ง​เป็น​สอง​ช่อง ช่อง​ซ้าย​ให้​เขียน​ข้อ​เสีย​และ​ช่อง​ขวา​ให้​เขียน​ข้อ​ดี. เมื่อ​ลูก​ของ​คุณ​ได้​เห็น​ข้อ​สรุป​ของ​เขา​ที่​เขียน​ออก​มา​ใน​กระดาษ เขา​อาจ​มอง​เห็น​ว่า​ตน​เอง​มี​ปัญหา​อะไร​และ​หา​วิธี​แก้ไข​ปัญหา​เหล่า​นั้น.

“ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​เหตุ​ผล” ของ​ลูก​วัยรุ่น

พ่อ​แม่​และ​บรรดา​ผู้​เชี่ยวชาญ​ต่าง​ก็​รู้​ว่า​เด็ก​วัยรุ่น​กับ​เด็ก​เล็ก​มี​วิธี​คิด​แตกต่าง​กัน​อย่าง​เห็น​ได้​ชัด. (1 โครินท์ 13:11) เด็ก​เล็ก​มัก​จะ​คิด​ตาม​ที่​เห็น​เท่า​นั้น เช่น ขาว​ก็​คือ​ขาว ดำ​ก็​คือ​ดำ ขณะ​ที่​เด็ก​วัยรุ่น​มัก​คิด​แบบ​มี​เหตุ​มี​ผล​มาก​กว่า. ตัว​อย่าง​เช่น เด็ก​เล็ก​อาจ​คิด​แค่​ตาม​ที่​พ่อ​แม่​สอน​ว่า​พระเจ้า​เป็น​ผู้​สร้าง​ทุก​สิ่ง. (เยเนซิศ 1:1) แต่​เด็ก​วัยรุ่น​อาจ​พยายาม​คิด​หา​คำ​ตอบ​ว่า ‘ฉัน​จะ​รู้​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​มี​พระเจ้า? ถ้า​พระเจ้า​เป็น​ความ​รัก​ทำไม​ทรง​ยอม​ให้​มี​ความ​ชั่ว? เป็น​ไป​ได้​จริง ๆ หรือ​ที่​พระเจ้า​จะ​ดำรง​อยู่​เรื่อย​มา​โดย​ไม่​มี​จุด​เริ่ม​ต้น?’—บทเพลง​สรรเสริญ 90:2

คุณ​อาจ​รู้สึก​ว่า​การ​คิด​หา​เหตุ​ผล​เช่น​นี้​แสดง​ว่า​ความ​เชื่อ​ที่​คุณ​ปลูกฝัง​ให้​ลูก​เริ่ม​สั่น​คลอน. ที่​จริง การ​ที่​ลูก​คิด​อย่าง​นี้​ถือ​เป็น​พัฒนาการ อีก​ขั้น​หนึ่ง​ของ​เขา. ถ้า​จะ​ว่า​ไป​แล้ว การ​ตั้ง​คำ​ถาม​เช่น​นั้น​อาจ​เป็น​ขั้น​ตอน​สำคัญ​ที่​ช่วย​ให้​คริสเตียน​พัฒนา​ความ​เชื่อ​ให้​เข้มแข็ง​ขึ้น.—กิจการ 17:2, 3

นอก​จาก​นั้น การ​ที่​ลูก​วัยรุ่น​ตั้ง​คำ​ถาม​แสดง​ว่า​เขา​กำลัง​ฝึก “ความ​สามารถ​ใน​การ​ใช้​เหตุ​ผล.” (โรม 12:1, 2) ใน​ที่​สุด เขา​จะ​สามารถ​เข้าใจ “ความ​กว้าง ความ​ยาว ความ​สูง และ​ความ​ลึก” ของ​ความ​เชื่อ​แบบ​คริสเตียน​ซึ่ง​เป็น​เรื่อง​ที่​เขา​ไม่​เข้าใจ​เมื่อ​เป็น​เด็ก. (เอเฟโซส์ 3:18) ดัง​นั้น ตอน​นี้​เป็น​เวลา​ที่​คุณ​จำเป็น​ต้อง​ช่วย​ลูก​วัยรุ่น​ให้​คิด​หา​เหตุ​ผล เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​เขา. โดย​วิธี​นี้ ลูก​ก็​จะ​มี​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ความ​เชื่อ​ของ​ตน.—สุภาษิต 14:15; กิจการ 17:11

ลอง​วิธี​นี้: ชวน​ลูก​ทบทวน​ความ​รู้​พื้น​ฐาน​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​คุณ​และ​ลูก​อาจ​คิด​ว่า​รู้​ดี​อยู่​แล้ว. ตัว​อย่าง​เช่น ลอง​ให้​เขา​หา​คำ​ตอบ​เกี่ยว​กับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้: ‘อะไร​ทำ​ให้​ฉัน เชื่อ​ว่า​มี​พระเจ้า? มี​หลักฐาน​อะไร​ที่​แสดง​ว่า​พระเจ้า​รัก​และ​ห่วงใย​ฉัน? ทำไม​ฉัน​คิด​ว่า​การ​ทำ​ตาม​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ฉัน​เสมอ?’ ระวัง​อย่า​ยัดเยียด​ความ​คิด​ของ​คุณ​ให้​ลูก. คุณ​ควร​ช่วย​ลูก​ให้​พัฒนา​ความ​เชื่อ​ของ​เขา​เอง. การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​ช่วย​ให้​ลูก​มั่น​ใจ​ใน​ความ​เชื่อ​ของ​เขา​มาก​ขึ้น.

“ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​เชื่อ​มั่น”

คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​เด็ก​หนุ่ม​ชื่อ​ติโมเธียว​ซึ่ง​รู้​จัก​หนังสือ​บริสุทธิ์ “ตั้ง​แต่​เป็น​ทารก.” ถึง​กระนั้น อัครสาวก​เปาโล​ก็​เตือน​ติโมเธียว​ว่า “จง​ทำ​ตาม​สิ่ง​ที่​ท่าน​ได้​เรียน​รู้​และ​สิ่ง​ที่​ท่าน​ได้​รับ​การ​ช่วย​ให้​เชื่อ​มั่น ว่า​เป็น​ความ​จริง​ต่อ ๆ ไป.” (2 ติโมเธียว 3:14, 15) เช่น​เดียว​กับ​ติโมเธียว ลูก​ของ​คุณ​อาจ​เรียน​รู้​มาตรฐาน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​ตั้ง​แต่​เป็น​ทารก. แต่​ตอน​นี้​คุณ​จำเป็น​ต้อง​ช่วย​เขา​ให้​เชื่อ​มั่น​ใน​คำ​สอน​เหล่า​นั้น​เพื่อ​เขา​จะ​พัฒนา​ความ​เชื่อ​ของ​ตน​ขึ้น​มา​ได้.

หนังสือ​คำ​ถาม​ที่​หนุ่ม​สาว​ถามคำ​ตอบ​ที่​ได้​ผล เล่ม 1 กล่าว​ว่า “ตราบ​ใด​ที่​ลูก​ยัง​อยู่​กับ​คุณ คุณ​มี​สิทธิ์​บอก​เขา​ให้​เข้า​ร่วม​กิจกรรม​คริสเตียน​กับ​คุณ. แต่​สิ่ง​สำคัญ​คือ การ​ช่วย​ลูก​ให้​รัก​พระเจ้า​จาก​หัวใจ ไม่​ใช่​ทำ​ตาม​คุณ​เหมือน​หุ่น​ยนต์.” ถ้า​คุณ​ตั้ง​เป้าหมาย​นี้​ไว้​ใน​ใจ คุณ​ก็​สามารถ​ช่วย​ลูก​วัยรุ่น​ให้ “มี​ความ​เชื่อ​ที่​มั่นคง” เพื่อ​เขา​จะ​ยึด​ความ​เชื่อ​นั้น​เป็น​แนว​ทาง​ชีวิต​ของ​เขา ไม่​ใช่​ของ​คุณ. *1 เปโตร 5:9

^ วรรค 4 ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

ถาม​ตัว​เอง​ว่า . . .

  • ฉัน​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​ไร​เมื่อ​ลูก​เริ่ม​สงสัย​ความ​เชื่อ​ทาง​ศาสนา​ของ​ฉัน?

  • ฉัน​จะ​ใช้​คำ​แนะ​นำ​ใน​บทความ​นี้​อย่าง​ไร​เพื่อ​ปรับปรุง​ท่าที​ที่​ฉัน​แสดง​ต่อ​ลูก?