ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กุญแจ​สู่​ความ​สุข​ใน​ครอบครัว

ฉันจะผ่านปีแรกของการแต่งงานไปได้อย่างไร?

ฉันจะผ่านปีแรกของการแต่งงานไปได้อย่างไร?

เขา​พูด: “ผม​ไม่​คิด​เลย​ว่า​ผม​กับ​ภรรยา​จะ​ต่าง​กัน​มาก​ขนาด​นี้! เช่น ผม​ชอบ​ตื่น​เช้า​แต่​ภรรยา​ผม​ชอบ​นอน​ดึก. อารมณ์​ขึ้น ๆ ลง ๆ ของ​เธอ​ก็​ทำ​ให้​ผม​งง! ไม่​ใช่​แค่​นั้น​นะ เวลา​ผม​ทำ​อาหาร​เธอ​ก็​จะ​ติ​โน่น​ติ​นี่ โดย​เฉพาะ​ถ้า​ผม​เอา​ผ้า​เช็ด​จาน​มา​เช็ด​มือ.”

เธอ​พูด: “สามี​ฉัน​เป็น​คน​ไม่​ค่อย​พูด. แต่​ฉัน​ชิน​กับ​การ​อยู่​ใน​ครอบครัว​ที่​ชอบ​พูด​ชอบ​คุย โดย​เฉพาะ​เวลา​กิน​ข้าว​ด้วย​กัน. เวลา​สามี​ฉัน​ทำ​อาหาร เขา​ชอบ​เอา​ผ้า​ที่​ใช้​เช็ด​จาน​ไป​เช็ด​มือ! ฉัน​เห็น​แล้ว​หงุดหงิด​จริง ๆ! ทำไม​พวก​ผู้​ชาย​ถึง​เข้าใจ​ยาก​อย่าง​นี้​นะ? แล้ว​ชีวิต​สมรส​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ได้​อย่าง​ไร?”

ถ้า​คุณ​เพิ่ง​แต่งงาน​ใหม่ คุณ​เคย​เจอ​ปัญหา​ทำนอง​นี้​ไหม? คุณ​รู้สึก​ไหม​ว่า​จู่ ๆ คู่​ของ​คุณ​ก็​มี​ข้อ​บกพร่อง​ที่​ไม่​เคย​มี​ใน​ตอน​ที่​คุณ​คบหา​ดู​ใจ​กัน? เนื่อง​จาก “คน​ที่​แต่งงาน​ก็​จะ​ทำ​ให้​ตัว​เอง​ลำบาก” ดัง​นั้น คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ลด​ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก​เหล่า​นั้น?—1 โครินท์ 7:28

ประการ​แรก อย่า​คิด​ว่า​เพียง​แค่​คุณ​แต่งงาน​กัน คุณ​กับ​คู่​สมรส​ก็​จะ​กลาย​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​เรื่อง​ชีวิต​สมรส​ใน​ทันที. ตอน​ที่​เป็น​โสด​คุณ​คง​ได้​พัฒนา​ทักษะ​ที่​ดี​หลาย​อย่าง​เพื่อ​จะ​เข้า​กับ​คน​อื่น​ได้ และ​ใน​ช่วง​ที่​คุณ​คบหา​ดู​ใจ​กัน​คุณ​คง​ได้​พัฒนา​ทักษะ​เหล่า​นี้​มาก​ขึ้น. แต่​การ​แต่งงาน​จะ​เป็น​การ​ทดสอบ​ความ​สามารถ​ของ​คุณ​ที่​จะ​เข้า​กับ​คน​อื่น​ใน​อีก​วิธี​หนึ่ง และ​เปิด​โอกาส​ให้​คุณ​พัฒนา​ทักษะ​ใหม่ ๆ อีก​ด้วย. คุณ​จะ​ทำ​ผิด​พลาด​ไหม? แน่นอน. แล้ว​คุณ​จะ​มี​ทักษะ​ที่​จำเป็น​ได้​ไหม? ได้!

วิธี​ที่​ดี​ที่​สุด​ที่​จะ​ปรับ​ปรุง​ทักษะ​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง​ก็​คือ​ปรึกษา​ผู้​ที่​รู้​เรื่อง​นั้น​ดี แล้ว​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เขา. ผู้​ที่​รู้​เรื่อง​ชีวิต​สมรส​ดี​ที่​สุด​ก็​คือ​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า. ที่​จริง พระองค์​ทรง​เป็น​ผู้​ที่​สร้าง​เรา​ให้​มี​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​สมรส. (เยเนซิศ 2:22-24) ขอ​ให้​สังเกต​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​พระ​คำ​ของ​พระองค์​จะ​ช่วย​คุณ​อย่าง​ไร​ให้​เอา​ชนะ​ปัญหา​และ​พัฒนา​ทักษะ​ที่​คุณ​จำเป็น​ต้อง​มี​เพื่อ​จะ​รักษา​ชีวิต​สมรส​ให้​ผ่าน​ปี​แรก​และ​ปี​ต่อ ๆ ไป​ได้.

ทักษะ​ที่ 1. ปรึกษา​หารือ​กัน

อะไร​คือ​ปัญหา?

สามี​คน​หนึ่ง​ใน​ญี่ปุ่น​ชื่อ​เคอิจิ *มัก​จะ​ลืม​ไป​ว่า​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​เขา​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​ภรรยา. เขา​เล่า​ว่า “ผม​มัก​จะ​ตอบรับ​คำ​เชิญ​โดย​ไม่​ได้​คุย​กับ​ภรรยา​ก่อน. แล้ว​ตอน​หลัง​ถึง​มา​รู้​ว่า​เธอ​ไป​ไม่​ได้.” แอลเลน สามี​คน​หนึ่ง​ใน​ออสเตรเลีย​บอก​ว่า “ผม​รู้สึก​ว่า​คน​ที่​ปรึกษา​ภรรยา​ทุก​เรื่อง​ไม่​ใช่​ลูก​ผู้​ชาย.” ภูมิหลัง​ของ​เขา​ทำ​ให้​เขา​คิด​แบบ​นั้น. เช่น​เดียว​กับ​ไดแอน​ซึ่ง​อยู่​ใน​บริเตน. เธอ​บอก​ว่า “เมื่อ​ฉัน​ต้องการ​คำ​แนะ​นำ​ฉัน​มัก​จะ​ปรึกษา​ครอบครัว​เสมอ. ดัง​นั้น ก่อน​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​อะไร​ฉัน​มัก​จะ​ถาม​ครอบครัว​แทน​ที่​จะ​ถาม​สามี.”

อะไร​คือ​ทาง​แก้?

พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ถือ​ว่า​คู่​สมรส​เป็น “เนื้อหนัง​เดียว​กัน.” (มัดธาย 19:3-6) ใน​สาย​พระ​เนตร​ของ​พระองค์​ไม่​มี​ความ​สัมพันธ์​ใด ๆ ระหว่าง​มนุษย์​ที่​สำคัญ​ยิ่ง​กว่า​ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​สามี​และ​ภรรยา! เพื่อ​รักษา​สาย​สมรส​ให้​เข้มแข็ง​จำเป็น​ต้อง​มี​การ​พูด​คุย​กัน​อย่าง​เปิด​เผย.

สามี​และ​ภรรยา​สามารถ​เรียน​หลาย​สิ่ง​จาก​การ​สังเกต​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​สนทนา​กับ​อับราฮาม. ตัว​อย่าง​เช่น ลอง​อ่าน​บท​สนทนา​ซึ่ง​บันทึก​ที่​เยเนซิศ 18:17-33. ขอ​ให้​สังเกต​สาม​วิธี​ที่​พระเจ้า​ทรง​ให้​เกียรติ​แก่​อับราฮาม. (1) พระ​ยะโฮวา​อธิบาย​ว่า​พระองค์​ตั้ง​พระทัย​จะ​ทำ​อะไร. (2) พระองค์​ฟัง​เมื่อ​อับราฮาม​แสดง​ความ​คิด​เห็น. (3) พระ​ยะโฮวา​ยอม​ปรับ​เปลี่ยน​วิธี​การ​ของ​พระองค์​ให้​เป็น​ไป​ตาม​ที่​อับราฮาม​ต้องการ​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. คุณ​จะ​ทำ​แบบ​เดียว​กัน​เมื่อ​ปรึกษา​หารือ​กับ​คู่​สมรส​ได้​อย่าง​ไร?

ลอง​วิธี​นี้: เมื่อ​พูด​คุย​กัน​ใน​เรื่อง​ที่​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​คุณ​ทั้ง​สอง​คน (1) ให้​อธิบาย​ว่า​คุณ​อยาก​ทำ​อะไร​โดย​พูด​แบบ​เสนอ​ความ​คิด​เห็น แทน​ที่​จะ​บอก​ว่า​คุณ​ได้​ตัดสิน​ใจ​แล้ว​ว่า​จะ​ทำ​อะไร​หรือ​บังคับ​ให้​คู่​สมรส​ทำ​ตาม​ความ​คิด​เห็น​ของ​คุณ; (2) ถาม​ความ​เห็น​ของ​คู่​สมรส​และ​ยอม​รับ​ว่า​เขา​มี​สิทธิ์​ที่​จะ​ไม่​เห็น​ด้วย​กับ​คุณ; และ (3) แสดง ‘ให้​เห็น​ว่า​คุณ​เป็น​คน​มี​เหตุ​ผล’ โดย​ทำ​ตาม​ที่​คู่​ของ​คุณ​ต้องการ​เมื่อ​เป็น​ไป​ได้.—ฟิลิปปอย 4:5

ทักษะ​ที่ 2. พูด​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา

อะไร​คือ​ปัญหา?

ภูมิหลัง​ทาง​วัฒนธรรม​หรือ​ครอบครัว​อาจ​ทำ​ให้​คุณ​เป็น​คน​ที่​ชอบ​พูด​ตรง ๆ หรือ​พูด​แบบ​ขวานผ่าซาก. ตัว​อย่าง​เช่น เลียม​ซึ่ง​อยู่​ใน​ยุโรป​บอก​ว่า “ผม​มา​จาก​ที่​ที่​ผู้​คน​คิด​อะไร​ก็​พูด​ออก​มา​ตรง ๆ. ผม​มัก​จะ​พูด​ตรง​เกิน​ไป​ทำ​ให้​ภรรยา​อารมณ์​เสีย​บ่อย ๆ. ผม​ต้อง​หัด​พูด​ให้​นุ่มนวล​ขึ้น.”

อะไร​คือ​ทาง​แก้?

อย่า​คิด​เอา​เอง​ว่า​คู่​ของ​คุณ​ชอบ​วิธี​พูด​แบบ​ที่​คุณ​เคย​ชิน. (ฟิลิปปอย 2:3, 4) คำ​แนะ​นำ​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ให้​กับ​มิชชันนารี​คน​หนึ่ง​เป็น​ประโยชน์​กับ​คน​ที่​เพิ่ง​แต่งงาน​ด้วย. ท่าน​กล่าว​ว่า “ทาส​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไม่​ควร​ทะเลาะ​วิวาท แต่​ต้อง​สุภาพ​อ่อนโยน​ต่อ​ทุก​คน.” (2 ติโมเธียว 2:24) คำ​ว่า “สุภาพ​อ่อนโยน” ใน​ภาษา​กรีก​ดั้งเดิม​อาจ​แปล​ได้​ด้วย​ว่า “ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา.” คน​ที่​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา​จะ​เข้าใจ​สถานการณ์​และ​ปฏิบัติ​ให้​เหมาะ​สม​กับ​สถานการณ์​นั้น​ด้วย​ความ​อ่อนโยน​และ​ไม่​ทำ​ให้​เกิด​ความ​ขุ่นเคือง.

ลอง​วิธี​นี้: เมื่อ​คู่​ของ​คุณ​ทำ​ให้​คุณ​หงุดหงิด​ก็​ให้​คิด​ว่า​คุณ​ไม่​ได้​กำลัง​พูด​กับ​คู่​สมรส​แต่​พูด​อยู่​กับ​เพื่อน​สนิท​หรือ​นาย​จ้าง. คุณ​จะ​ยัง​ใช้​น้ำ​เสียง​หรือ​คำ​พูด​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​ไหม? จาก​นั้น ให้​คิด​ถึง​เหตุ​ผล​ที่​คุณ​น่า​จะ​พูด​กับ​คู่​สมรส​อย่าง​ให้​เกียรติ​และ​สุภาพ​อ่อนโยน​มาก​ยิ่ง​กว่า​ที่​คุณ​พูด​กับ​เพื่อน​หรือ​นาย​จ้าง.—โกโลซาย 4:6

ทักษะ​ที่ 3. ปรับ​ตัว​ให้​เข้า​กับ​บทบาท​ใหม่

อะไร​คือ​ปัญหา?

ตอน​แรก​สามี​อาจ​จะ​แสดง​ความ​เป็น​ผู้​นำ​แบบ​ที่​เข้มงวด​เกิน​ไป หรือ​ภรรยา​อาจ​ไม่​ชิน​กับ​การ​เสนอ​ความ​คิด​เห็น​ของ​ตัว​เอง​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา. ตัว​อย่าง​เช่น อันโตนี​โอ​สามี​ชาว​อิตาลี​บอก​ว่า “พ่อ​ของ​ผม​แทบ​ไม่​เคย​ปรึกษา​แม่​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ใน​ครอบครัว​เลย. ดัง​นั้น เมื่อ​ผม​แต่งงาน​ใหม่ ๆ ผม​จึง​ปกครอง​ครอบครัว​เหมือน​เป็น​พระ​ราชา.” เดบบี​ภรรยา​คน​หนึ่ง​ใน​แคนาดา​บอก​ว่า “ฉัน​ชอบ​สั่ง​สามี​ให้​เก็บ​ของ​ให้​เป็น​ระเบียบ​เรียบร้อย​กว่า​นี้. แต่​ดู​เหมือน​นิสัย​ชอบ​บงการ​ของ​ฉัน​จะ​ทำ​ให้​เขา​ยิ่ง​ดื้อ​ไม่​ยอม​ทำ​ตาม.”

อะไร​คือ​ทาง​แก้​สำหรับ​สามี?

สามี​บาง​คน​อาจ​คิด​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​สอน​ให้​ภรรยา​เชื่อ​ฟัง​สามี​แบบ​เดียว​กับ​ที่​ลูก​เชื่อ​ฟัง​พ่อ​แม่. (โกโลซาย 3:20; 1 เปโตร 3:1) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า​สามี​ต้อง “ผูก​พัน​ใกล้​ชิด​กับ​ภรรยา และ​ทั้ง​สอง​จะ​เป็น​เนื้อหนัง​เดียว​กัน” แต่​ไม่​ได้​กล่าว​ว่า​พ่อ​แม่​จะ​ผูก​พัน​กับ​ลูก​ใน​ลักษณะ​นั้น​ด้วย. (มัดธาย 19:5) พระ​ยะโฮวา​ตรัส​ว่า​ภรรยา​เป็น​คู่​เคียง​ของ​สามี. (เยเนซิศ 2:18) แต่​พระองค์​ไม่​เคย​ตรัส​ว่า​ลูก​เป็น​คู่​เคียง​ของ​พ่อ​แม่. ถ้า​สามี​ปฏิบัติ​กับ​ภรรยา​เหมือน​เป็น​ลูก เขา​กำลัง​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​การ​จัด​เตรียม​ของ​พระเจ้า​เรื่อง​การ​สมรส​ไหม?

ที่​จริง พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​กระตุ้น​คุณ​ให้​ปฏิบัติ​ต่อ​ภรรยา​เหมือน​กับ​ที่​พระ​เยซู​ปฏิบัติ​ต่อ​ประชาคม​คริสเตียน. คุณ​จะ​ช่วย​ให้​ภรรยา​นับถือ​คุณ​ใน​ฐานะ​ผู้​นำ​ได้​ง่าย​ขึ้น​ถ้า (1) คุณ​ไม่​คาด​หมาย​ว่า​เธอ​ต้อง​เชื่อ​ฟัง​คุณ​ใน​ทันที​และ​เชื่อ​ฟัง​อย่าง​ครบ​ถ้วน และ (2) คุณ​รัก​เธอ​เหมือน​กับ​ที่​คุณ​รัก​ตัว​คุณ​เอง​แม้​แต่​ใน​ยาม​ที่​เกิด​ปัญหา.—เอเฟโซส์ 5:25-29

อะไร​คือ​ทาง​แก้​สำหรับ​ภรรยา?

ขอ​ให้​ยอม​รับ​ว่า​ตอน​นี้​สามี​คือ​ผู้​ที่​พระเจ้า​แต่ง​ตั้ง​ให้​เป็น​ผู้​นำ​ของ​คุณ. (1 โครินท์ 11:3) ถ้า​คุณ​ให้​ความ​นับถือ​ต่อ​สามี คุณ​ก็​กำลัง​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​พระเจ้า. ถ้า​คุณ​ไม่​ให้​ความ​นับถือ​ต่อ​เขา​ใน​ฐานะ​ผู้​นำ คุณ​ก็​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​จริง ๆ แล้ว​คุณ​รู้สึก​อย่าง​ไร​ต่อ​สามี​และ​ต่อ​พระเจ้า​รวม​ถึง​คำ​สอน​ของ​พระองค์​ด้วย.—โกโลซาย 3:18

เมื่อ​พูด​คุย​กัน​เกี่ยว​กับ​ปัญหา ให้​พยายาม​คิด​ว่า​จะ​แก้ไข​ปัญหา​อย่าง​ไร​แทน​ที่​จะ​ตำหนิ​สามี. ตัว​อย่าง​เช่น ราชินี​เอศเธระ​ต้องการ​ให้​กษัตริย์​อะหัศวะโรศ​ผู้​เป็น​สามี​จัด​การ​กับ​ความ​ไม่​ยุติธรรม​ที่​เกิด​ขึ้น. แทน​ที่​จะ​ตำหนิ​สามี นาง​พูด​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา. สามี​ก็​รับ​ฟัง​คำ​ขอ​ของ​นาง​และ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​ให้​ถูก​ต้อง​ใน​ที่​สุด. (เอศเธระ 7:1-4; 8:3-8) สามี​ของ​คุณ​คง​จะ​รัก​คุณ​มาก​ขึ้น​ถ้า (1) คุณ​ให้​เวลา​เขา​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​ทำ​หน้า​ที่​ผู้​นำ​ครอบครัว​ได้​อย่าง​ดี และ (2) คุณ​ปฏิบัติ​ต่อ​เขา​ด้วย​ความ​นับถือ​แม้​แต่​เมื่อ​เขา​ทำ​ผิด​พลาด.—เอเฟโซส์ 5:33

ลอง​วิธี​นี้: แทน​ที่​จะ​คิด​ว่า​คู่​ของ​คุณ​มี​อะไร​บ้าง​ที่​ควร​ปรับ​ปรุง ให้​คิด​ถึง​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​ตัว​คุณ​เอง​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​ปรุง. สามี​ทั้ง​หลาย: เมื่อ​คุณ​ทำ​ให้​ภรรยา​อารมณ์​เสีย​เพราะ​วิธี​ที่​คุณ​แสดง​ความ​เป็น​ผู้​นำ​หรือ​เพราะ​คุณ​ไม่​ได้​แสดง ให้​ถาม​ภรรยา​ว่า​คุณ​ควร​ปรับ​ปรุง​ตัว​อย่าง​ไร​แล้ว​ก็​จด​คำ​แนะ​นำ​ของ​เธอ​ไว้. ภรรยา​ทั้ง​หลาย: เมื่อ​สามี​ของ​คุณ​รู้สึก​ว่า​คุณ​ไม่​ได้​แสดง​ความ​นับถือ​ต่อ​เขา​อย่าง​ที่​ควร ให้​ถาม​สามี​ว่า​คุณ​ควร​ปรับ​ปรุง​ตัว​อย่าง​ไร​แล้ว​ก็​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​ของ​เขา.

อย่า​คาด​หมาย​มาก​เกิน​ไป

การ​รักษา​ชีวิต​สมรส​ให้​มี​ความ​สุข​โดย​ไม่​คาด​หมาย​จาก​คู่​สมรส​มาก​เกิน​ไป​เป็น​เหมือน​กับ​การ​ขี่​จักรยาน. ตอน​ที่​เริ่ม​หัด​ขี่​คุณ​อาจ​จะ​ล้ม​อยู่​หลาย​ครั้ง​จน​กว่า​จะ​มี​ความ​มั่นใจ. ทำนอง​เดียว​กัน หลัง​จาก​แต่งงาน​ใหม่ ๆ คุณ​อาจ​จะ​ทำ​ผิด​พลาด​เป็น​ครั้ง​คราว​จน​กว่า​คุณ​จะ​รู้​วิธี​จัด​การ​กับ​ปัญหา​ใน​ชีวิต​สมรส.

จง​มี​อารมณ์​ขัน​อยู่​เสมอ. อย่า​มอง​ว่า​เรื่อง​ที่​คู่​ของ​คุณ​เป็น​ห่วง​เป็น​เรื่อง​ไม่​สำคัญ แต่​อย่า​คิด​มาก​เกิน​ไป​กับ​ความ​ผิด​พลาด​ของ​ตัว​เอง บาง​ที​คุณ​อาจ​หัวเราะ​ให้​กับ​ความ​ผิด​พลาด​นั้น​ได้. พยายาม​ใช้​ทุก​โอกาส​เพื่อ​ทำ​ให้​คู่​สมรส​มี​ความ​สุข​ใน​ช่วง​ปี​แรก​ของ​การ​แต่งงาน. (พระ​บัญญัติ 24:5) เหนือ​สิ่ง​อื่น​ใด ขอ​ให้​นำ​คำ​แนะ​นำ​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มา​ใช้​ใน​ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ. ถ้า​คุณ​ทำ​เช่น​นั้น ชีวิต​สมรส​ของ​คุณ​ก็​จะ​มั่นคง​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป.

^ วรรค 9 บาง​ชื่อ​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

ถาม​ตัว​เอง​ว่า . . .

  • ฉัน​ถือ​ว่า​คู่​สมรส​เป็น​เพื่อน​ที่​ไว้​ใจ​และ​ใกล้​ชิด​ที่​สุด​ไหม หรือ​ฉัน​ชอบ​ปรึกษา​คน​อื่น​มาก​กว่า?

  • ใน​ช่วง 24 ชั่วโมง​ที่​ผ่าน​มา ฉัน​ได้​ทำ​อะไร​เป็น​พิเศษ​บ้าง​ไหม​ที่​แสดง​ว่า​ฉัน​รัก​และ​นับถือ​คู่​สมรส?