ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กุญแจ​สู่​ความ​สุข​ใน​ครอบครัว

สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบ

สอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบ

จอร์จ: * “เหตุ​การณ์​เป็น​อย่าง​นี้​ทุก​คืน. ไมเคิล​ลูก​ชาย​วัย​สี่​ขวบ​ของ​ผม​ทิ้ง​ของ​เล่น​ไว้​ทั่ว​บ้าน. ผม​พยายาม​บอก​ให้​เขา​เก็บ​ของ​เล่น​ให้​เรียบร้อย​ก่อน​เข้า​นอน. แต่​ไมเคิล​จะ​อาละวาด​กรีด​ร้อง​ไม่​หยุด. บาง​ครั้ง​ผม​หงุดหงิด​มาก​จน​ตวาด​ใส่​ลูก แต่​การ​ทำ​อย่าง​นั้น​มี​แต่​ทำ​ให้​เรา​ทั้ง​คู่​รู้สึก​แย่. ผม​อยาก​ให้​เวลา​เข้า​นอน​เป็น​เวลา​แห่ง​ความ​สุข. ผม​จึง​เลิก​เคี่ยวเข็ญ​เขา​และ​เก็บ​ของ​เล่น​นั้น​เสีย​เอง.”

เอมิลี: “ปัญหา​เริ่ม​ขึ้น​เมื่อ​เจนนี​ลูก​สาว​อายุ 13 ปี​ของ​ฉัน​ไม่​เข้าใจ​การ​บ้าน​ที่​ครู​ให้. เจนนี​ร้องไห้​เป็น​ชั่วโมง​หลัง​กลับ​จาก​โรง​เรียน. ฉัน​บอก​ให้​เธอ​ถาม​ครู​ที่​โรง​เรียน แต่​เจนนี​ยืน​ยัน​ว่า​ครู​ดุ เธอ​จึง​ไม่​กล้า​พูด​กับ​ครู. ฉัน​เกือบ​จะ​ไป​ที่​โรง​เรียน​เดี๋ยว​นั้น​เลย​และ​ต่อ​ว่า​ครู​ของ​ลูก. ฉัน​คิด​ว่า​ใคร ๆ ก็​ไม่​มี​สิทธิ์​ทำ​ให้​ลูก​สาว​ตัว​น้อย​ของ​ฉัน​เสียใจ​ขนาด​นี้!”

คุณ​เคย​รู้สึก​เหมือน​กับ​จอร์จ​และ​เอมิลี​ไหม? เช่น​เดียว​กับ​สอง​คน​นี้ พ่อ​แม่​หลาย​คน​รู้สึก​ไม่​สบาย​ใจ​เมื่อ​เห็น​ลูก​มี​ปัญหา​หรือ​ไม่​มี​ความ​สุข. เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ที่​พ่อ​แม่​จะ​พยายาม​ปก​ป้อง​ลูก​ของ​ตน. แต่​สถานการณ์​ที่​กล่าว​ไป​ข้าง​ต้น​นั้น​แท้​จริง​แล้ว​เปิด​โอกาส​ให้​พ่อ​แม่​สอน​บทเรียน​ที่​มี​ค่า​แก่​ลูก​ใน​เรื่อง​การ​รู้​จัก​รับผิดชอบ. แน่​ละ บทเรียน​สำหรับ​เด็ก 4 ขวบ​กับ 13 ปี​ย่อม​แตกต่าง​กัน.

แต่​ความ​จริง​ก็​คือ คุณ​ไม่​อาจ​ปก​ป้อง​ลูก​ไว้​จาก​ปัญหา​ใน​ชีวิต​ได้​เสมอ​ไป. ใน​ที่​สุด เด็ก​จะ​ต้อง​จาก​พ่อ​แม่​ไป​และ “แบก​ภาระ​ของ​ตน​เอง” ใน​เรื่อง​ความ​รับผิดชอบ​ต่าง ๆ. (กาลาเทีย 6:5; เยเนซิศ 2:24) เพื่อ​ช่วย​ให้​ลูก​ดู​แล​ตัว​เอง​ได้ พ่อ​แม่​ต้อง​มุ่ง​มั่น​ที่​จะ​สอน​ลูก​ให้​เติบโต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ที่​ไม่​เห็น​แก่​ตัว, ห่วงใย​ผู้​อื่น, และ​มี​ความ​รับผิดชอบ. นี่​ไม่​ใช่​งาน​ง่าย​เลย!

น่า​ยินดี​ที่​พ่อ​แม่​สามารถ​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ที่​ยอด​เยี่ยม​ของ​พระ​เยซู​และ​วิธี​ที่​พระองค์​อบรม​สั่ง​สอน​เหล่า​สาวก. พระ​เยซู​ไม่​เคย​มี​ลูก. แต่​เป้าหมาย​ของ​พระองค์​ใน​การ​เลือก​และ​ฝึก​อบรม​เหล่า​สาวก​คือ​เพื่อ​ช่วย​พวก​เขา​ให้​สามารถ​ทำ​งาน​ได้​ต่อ​ไป แม้​กระทั่ง​หลัง​จาก​พระองค์​จาก​ไป​แล้ว. (มัดธาย 28:19, 20) สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ได้​ทำ​สำเร็จ​มา​แล้ว​คล้าย​กัน​กับ​เป้าหมาย​ที่​พ่อ​แม่​ทุก​คน​ต้องการ​ทำ​ให้​ได้ นั่น​คือ​การ​สอน​ลูก​ให้​มี​ความ​รับผิดชอบ. ให้​เรา​พิจารณา​สาม​แนว​ทาง​ที่​พ่อ​แม่​จะ​เลียน​แบบ​พระ​เยซู​ได้.

“วาง​แบบ​อย่าง” ให้​ลูก

เมื่อ​พระ​เยซู​ใกล้​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์ พระองค์​ตรัส​กับ​เหล่า​สาวก​ว่า “เรา​วาง​แบบ​อย่าง​ไว้​ให้​พวก​เจ้า เพื่อ​ว่า​เรา​ได้​ทำ​ต่อ​พวก​เจ้า​อย่าง​ไร พวก​เจ้า​จะ​ทำ​ต่อ​กัน​อย่าง​นั้น​ด้วย.” (โยฮัน 13:15) เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู พ่อ​แม่​จำเป็น​ต้อง​อธิบาย​และ​วาง​ตัว​อย่าง​ให้​เห็น​ชัดเจน​ว่า​การ​เป็น​คน​มี​ความ​รับผิดชอบ​นั้น​หมาย​ถึง​อะไร​จริง ๆ.

จง​ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘ฉัน​มัก​จะ​พูด​ถึง​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ต่าง ๆ ของ​ฉัน​ใน​แง่​ดี​ไหม? ฉัน​พูด​ถึง​ความ​พอ​ใจ​ยินดี​ที่​ได้​จาก​การ​ทำ​งาน​หนัก​เพื่อ​คน​อื่น​ไหม? หรือ​ฉัน​มัก​จะ​บ่น​และ​เปรียบ​เทียบ​ตัว​เอง​กับ​คน​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​มี​ชีวิต​ที่​สบาย​กว่า​ไหม?’

จริง​อยู่ ไม่​มี​ใคร​สมบูรณ์​พร้อม. บาง​ครั้ง​เรา​ทุก​คน​รู้สึก​ว่า​แบก​ภาระ​หนัก​เกิน​ไป. แต่​แบบ​อย่าง​ของ​คุณ​อาจ​เป็น​วิธี​สอน​ที่​มี​พลัง​ที่​สุด​เพื่อ​ให้​ลูก​เห็น​ความ​สำคัญ​และ​คุณค่า​ของ​การ​รู้​จัก​รับผิดชอบ.

ลอง​วิธี​นี้: ถ้า​เป็น​ไป​ได้ ให้​พา​ลูก​ไป​ทำ​งาน​ด้วย​เป็น​ครั้ง​คราว​และ​ให้​เขา​ได้​เห็น​ว่า​คุณ​ทำ​อะไร​เพื่อ​หา​เงิน​มา​จุนเจือ​ครอบครัว. จง​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​อาสา​สมัคร​แบบ​ที่​ลูก​สามารถ​ร่วม​ด้วย​ได้. หลัง​จาก​นั้น จง​พูด​คุย​กัน​ว่า​คุณ​ได้​รับ​ความ​สุข​ความ​ยินดี​อย่าง​ไร​บ้าง​จาก​การ​ทำ​งาน​นั้น.—กิจการ 20:35

คาด​หมาย​อย่าง​สม​เหตุ​สม​ผล

พระ​เยซู​ทรง​ยอม​รับ​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ใช้​เวลา​กว่า​ที่​สาวก​ของ​พระองค์​จะ​พร้อม​รับ​หน้า​ที่​และ​ความ​รับผิดชอบ​อย่าง​ที่​พระองค์​คาด​หมาย. ครั้ง​หนึ่ง​พระองค์​ได้​บอก​พวก​เขา​ว่า “เรา​ยัง​มี​อีก​หลาย​เรื่อง​ที่​จะ​บอก​พวก​เจ้า แต่​ตอน​นี้​พวก​เจ้า​ยัง​ไม่​อาจ​เข้าใจ​ได้.” (โยฮัน 16:12) พระ​เยซู​ไม่​ได้​รีบ​ร้อน​ให้​พวก​สาวก​ทำ​สิ่ง​ใด ๆ ด้วย​ตัว​เขา​เอง. แทน​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น พระ​เยซู​ทรง​ใช้​เวลา​สอน​พวก​เขา​หลาย​เรื่อง. เฉพาะ​เมื่อ​พระองค์​คิด​ว่า​พวก​เขา​พร้อม​แล้ว​จึง​ส่ง​พวก​เขา​ออก​ไป​ทำ​งาน​ด้วย​ตัว​เอง.

ทำนอง​เดียว​กัน คง​เป็น​เรื่อง​ไม่​สม​เหตุ​ผล​ที่​พ่อ​แม่​จะ​ขอ​ให้​ลูก​รับ​เอา​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​ผู้​ใหญ่​ก่อน​ที่​เขา​จะ​พร้อม​จริง ๆ. กระนั้น เมื่อ​ลูก​โต​ขึ้น​พ่อ​แม่​ควร​ดู​ว่า​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​อะไร​ที่​เหมาะ​กับ​เขา. ตัว​อย่าง​เช่น พ่อ​แม่​ต้อง​สอน​ลูก​ให้​รับผิดชอบ​เรื่อง​ความ​สะอาด​ส่วน​ตัว, ทำ​ความ​สะอาด​ห้อง​ของ​ตัว​เอง, ตรง​ต่อ​เวลา, และ​ใช้​จ่าย​อย่าง​สุขุม. เมื่อ​ลูก​เริ่ม​เข้า​โรง​เรียน พ่อ​แม่​ควร​ช่วย​ลูก​ให้​มอง​ว่า​การ​บ้าน​เป็น​ความ​รับผิดชอบ​สำคัญ​ที่​เด็ก​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่.

พ่อ​แม่​ต้อง​ไม่​เพียง​แต่​มอบ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ให้​ลูก​เท่า​นั้น. เขา​ต้อง​ให้​การ​สนับสนุน​ด้วย​เมื่อ​ลูก​พยายาม​จะ​ทำ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​นั้น​ให้​สำเร็จ. จอร์จ คุณ​พ่อ​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ตอน​ต้น​ได้​ตระหนัก​ว่า​ที่​ไมเคิล​อารมณ์​เสีย​เมื่อ​ต้อง​เก็บ​ของ​เล่น สาเหตุ​ส่วน​หนึ่ง​เป็น​เพราะ​งาน​นั้น​ดู​เหมือน​เป็น​งาน​ใหญ่​สำหรับ​เขา. จอร์จ​กล่าว​ว่า “แทน​ที่​จะ​ตวาด​ใส่​ไมเคิล​ให้​เก็บ​ของ​เล่น ผม​พยายาม​สอน​เขา​ให้​รู้​วิธี​เก็บ​ของ​เล่น​เหล่า​นั้น.”

เขา​สอน​อย่าง​ไร? จอร์จ​บอก​ว่า “ก่อน​อื่น ผม​จะ​กำหนด​เวลา​เก็บ​ของ​เล่น​ไว้​ทุก​คืน. และ​ผม​ก็​จะ​ช่วย​ไมเคิล​เก็บ​ของ​เล่น โดย​ค่อย ๆ ทำที​ละ​ส่วน​ของ​ห้อง. ผม​ทำ​ให้​มัน​เป็น​เกม และ​ถึง​กับ​แข่ง​กัน​ว่า​ใคร​จะ​เก็บ​ได้​หมด​ก่อน. ไม่​ช้า การ​เก็บ​ของ​เล่น​ก็​กลาย​เป็น​กิจวัตร​ก่อน​เข้า​นอน. ผม​สัญญา​กับ​ไมเคิล​ว่า​ถ้า​เขา​เก็บ​ของ​เล่น​ได้​เร็ว ผม​จะ​อ่าน​หนังสือ​ให้​เขา​ฟัง​เพิ่ม​อีก​เรื่อง​หนึ่ง. แต่​ถ้า​เขา​มัว​ชักช้า ผม​ก็​จะ​อ่าน​ให้​เขา​ฟัง​น้อย​ลง.”

ลอง​วิธี​นี้: จง​วิเคราะห์​ว่า​ลูก​แต่​ละ​คน​ของ​คุณ​สามารถ​รับผิดชอบ​งาน​อะไร​ได้​บ้าง​ตาม​ความ​เหมาะ​สม​เพื่อ​ช่วย​ให้​งาน​ต่าง ๆ ใน​บ้าน​เป็น​ไป​อย่าง​ราบรื่น. ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘มี​งาน​อะไร​ไหม​ที่​ฉัน​ยัง​ทำ​ให้​ลูก​อยู่​ทั้ง ๆ ที่​เขา​สามารถ​ทำ​เอง​ได้​แล้ว?’ ถ้า​มี ก็​ให้​ลูก​ทำ​งาน​นั้น​กับ​คุณ​จน​กว่า​จะ​แน่​ใจ​ว่า​เขา​สามารถ​ทำ​งาน​นั้น​เอง​ได้. อธิบาย​ให้​ลูก​เข้าใจ​ว่า สิ่ง​ที่​เขา​ทำ​ย่อม​มี​ผล​ตาม​มา​ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ผล​ดี​หรือ​ไม่​ดี ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​เขา​เอา​ใจ​ใส่​งาน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย​มาก​แค่​ไหน. แล้ว​คุณ​ก็​ต้อง​ให้​เป็น​ไป​ตาม​นั้น ไม่​ว่า​จะ​เป็น​การ​ทำ​โทษ​หรือ​ให้​รางวัล.

ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​เจาะจง

เช่น​เดียว​กับ​ครู​ที่​ดี​ทั้ง​หลาย พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​วิธี​เรียน​รู้​ที่​ได้​ผล​ที่​สุด​คือ​เรียน​จาก​การ​กระทำ. ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​พระ​เยซู​เห็น​ว่า​ถึง​เวลา​แล้ว พระองค์​ก็​ส่ง​สาวก​ออก​ไป “เป็น​คู่ ๆ ให้​เข้า​ไป​ทุก​เมือง​และ​ทุก​ที่​ก่อน​ที่​พระองค์​จะ​เสด็จ​ไป.” (ลูกา 10:1) อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระองค์​ไม่​ได้​ปล่อย​ให้​พวก​เขา​ออก​ไป​โดย​ไม่​แนะ​นำ​อะไร. ก่อน​จะ​ส่ง​พวก​เขา​ออก​ไป​พระองค์​ได้​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​เจาะจง​หลาย​อย่าง. (ลูกา 10:2-12) เมื่อ​พวก​สาวก​กลับ​มา​รายงาน​ความ​สำเร็จ พระ​เยซู​ทรง​ชมเชย​และ​ให้​กำลังใจ​พวก​เขา. (ลูกา 10:17-24) พระองค์​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​พระองค์​มั่น​ใจ​ใน​ความ​สามารถ​ของ​พวก​เขา​ทั้ง​ยัง​พอ​พระทัย​พวก​เขา​ด้วย.

เมื่อ​ลูก​ของ​คุณ​ต้อง​รับผิดชอบ​งาน​ที่​ท้าทาย คุณ​ทำ​อย่าง​ไร? คุณ​พยายาม​ปก​ป้อง​ลูก​จาก​สิ่ง​ที่​เขา​กลัว หรือ​ปก​ป้อง​เขา​ไม่​ให้​พบ​กับ​ความ​ผิด​หวัง​และ​ความ​ล้มเหลว​ไหม? โดย​สัญชาตญาณ คุณ​อาจ​รีบ​เข้า​ช่วย​ลูก​หรือ​แบก​รับ​ภาระ​นั้น​เสีย​เอง.

แต่​ขอ​ให้​คิด​ดู​ว่า ถ้า​ทุก​ครั้ง​คุณ​รีบ​เข้า​ช่วย​ลูก​โดย​วิธี​ใด​วิธี​หนึ่ง นั่น​จะ​บ่ง​บอก​ถึง​อะไร? คุณ​กำลัง​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​คุณ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เขา​และ​เชื่อ​มั่น​ใน​ความ​สามารถ​ของ​เขา​ไหม? หรือ​คุณ​กำลัง​บอก​ลูก​ว่า​คุณ​คิด​ว่า​เขา​ยัง​เป็น​เด็ก​ที่​ช่วย​ตัว​เอง​ไม่​ได้ ซึ่ง​ต้อง​พึ่ง​คุณ​อยู่​ร่ำ​ไป?

ตัว​อย่าง​เช่น เอมิลี​ที่​กล่าว​ถึง​ข้าง​ต้น​ทำ​อย่าง​ไร​เมื่อ​ลูก​สาว​ของ​เธอ​มี​ปัญหา? แทน​ที่​จะ​เข้า​ไป​จัด​การ​เอง เธอ​ให้​เจนนี​ไป​คุย​กับ​ครู​ด้วย​ตัว​เอง. เอมิลี​กับ​เจนนี​ช่วย​กัน​เขียน​คำ​ถาม​ต่าง ๆ ที่​จะ​นำ​ไป​ถาม​ครู​ที่​โรง​เรียน. แล้ว​คุย​กัน​ว่า​จะ​เข้า​พบ​ครู​เมื่อ​ไร. พวก​เขา​ถึง​กับ​ฝึก​ซ้อม​วิธี​พูด​กับ​ครู. เอมิลี​บอก​ว่า “เจนนี​รวบ​รวม​ความ​กล้า​เพื่อ​เข้า​ไป​คุย​กับ​ครู และ​ครู​ก็​ชมเชย​เธอ​ที่​เข้า​มา​ปรึกษา. เจนนี​ภูมิ​ใจ​ใน​ตัว​เอง​มาก และ​ฉัน​ก็​ภูมิ​ใจ​ใน​ตัว​เธอ​ด้วย.”

ลอง​วิธี​นี้: เขียน​ปัญหา​ที่​ลูก​ของ​คุณ​เผชิญ​อยู่​ใน​ขณะ​นี้. ใกล้ ๆ กัน​ก็​เขียน​ว่า​คุณ​จะ​ทำ​อะไร​ได้​เพื่อ​ช่วย​ลูก​รับมือ​กับ​ปัญหา​นั้น​โดย​ที่​คุณ​ไม่​เข้า​ไป​จัด​การ​เสีย​เอง. ฝึก​ซ้อม​กับ​ลูก​เกี่ยว​กับ​ขั้น​ตอน​ต่าง ๆ ที่​จำเป็น​เพื่อ​เอา​ชนะ​ปัญหา. แสดง​ให้​ลูก​เห็น​ว่า​คุณ​มั่น​ใจ​ใน​ความ​สามารถ​ของ​เขา.

ถ้า​คุณ​ปก​ป้อง​ลูก​จาก​ปัญหา​ยุ่งยาก​อยู่​ร่ำ​ไป แท้​จริง​แล้ว คุณ​ก็​อาจ​กำลัง​ปิด​กั้น​ความ​สามารถ​ของ​เขา​ที่​จะ​รับมือ​กับ​ปัญหา​ต่าง ๆ ใน​ชีวิต. แทน​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น จง​ช่วย​ลูก​ให้​เข้มแข็ง​โดย​สอน​เขา​ให้​รับ​เอา​หน้า​ที่​รับผิดชอบ. เมื่อ​คุณ​ทำ​เช่น​นั้น​คุณ​ก็​ได้​ให้​ของ​ขวัญ​ที่​มี​ค่า​ที่​สุด​อย่าง​หนึ่ง​แก่​ลูก​ของ​คุณ.

^ วรรค 3 ชื่อ​ใน​บทความ​นี้​เป็น​ชื่อ​สมมุติ.

ถาม​ตัว​เอง​ว่า . . .

  • ฉัน​คาด​หมาย​จาก​ลูก​ตาม​ความ​เป็น​จริง​ไหม?

  • ฉัน​บอก​ลูก​อีก​ทั้ง​แสดง​ให้​ลูก​เห็น​ไหม​ว่า​ควร​ทำ​อย่าง​ไร​จึง​จะ​ประสบ​ความ​สำเร็จ?

  • ฉัน​ให้​กำลังใจ​และ​ชมเชย​ลูก​ครั้ง​สุด​ท้าย​เมื่อ​ไร?