ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

กุญแจ​สู่​ความ​สุข​ใน​ครอบครัว

วิธี​สื่อ​ความ​กับ​ลูก​วัยรุ่น

วิธี​สื่อ​ความ​กับ​ลูก​วัยรุ่น

“การ​พูด​กับ​ลูก​ชาย​เคย​เป็น​เรื่อง​ง่าย แต่​ตอน​นี้​เมื่อ​ลูก​อายุ 16 แล้ว​ดิฉัน​กับ​สามี​รู้สึก​ว่า​ยาก​ที่​จะ​รู้​ว่า​เขา​คิด​อะไร. เขา​ชอบ​เก็บ​ตัว​อยู่​ใน​ห้อง​และ​แทบ​ไม่​พูด​อะไร​กับ​เรา​เลย!”—มิเรียม, เม็กซิโก.

“เมื่อ​ก่อน​ลูก ๆ เคย​ตั้งใจ​ฟัง​เสมอ​ไม่​ว่า​ผม​จะ​พูด​อะไร. พวก​เขา​หู​ผึ่ง​เชียว​ล่ะ! เดี๋ยว​นี้​พอ​โต​เป็น​วัยรุ่น​แล้ว ลูก​กลับ​คิด​ว่า​ผม​กับ​พวก​เขา​อยู่​กัน​คน​ละ​โลก.”—สกอตต์, ออสเตรเลีย.

หาก​คุณ​มี​ลูก​วัยรุ่น คุณ​คง​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​พ่อ​แม่​ที่​กล่าว​ไป​ข้าง​ต้น. ใน​อดีต การ​สนทนา​ระหว่าง​คุณ​กับ​ลูก​อาจ​ราบรื่น​เหมือน​ถนน​ใหญ่​ที่​รถ​วิ่ง​ได้​สอง​ทาง. แต่​เดี๋ยว​นี้ ถนน​เส้น​นั้น​ดู​เหมือน​จะ​ปิด​เสีย​แล้ว. มารดา​ชื่อ​แองเจลา​ใน​อิตาลี​บอก​ว่า “เมื่อ​ลูก​ชาย​ของ​ดิฉัน​ยัง​เล็ก เขา​เคย​ระดม​คำ​ถาม​ใส่​ดิฉัน​ไม่​หยุด. เดี๋ยว​นี้​ดิฉัน กลับ​ต้อง​เป็น​ฝ่าย​ชวน​คุย. ถ้า​ไม่​ทำ​อย่าง​นั้น เวลา​ก็​จะ​ผ่าน​ไป​เป็น​วัน ๆ โดย​ไม่​มี​การ​พูด​คุย​กัน​เป็น​เรื่อง​เป็น​ราว​เลย.”

เช่น​เดียว​กับ​แองเจลา บาง​ที​คุณ​อาจ​พบ​ว่า​ลูก​ที่​เคย​เป็น​เด็ก​ช่าง​พูด​ช่าง​คุย​เปลี่ยน​ไป​เป็น​วัยรุ่น​ขี้​หงุดหงิด ไม่​พูด​ไม่​จา. ความ​พยายาม​ทุก​อย่าง​เพื่อ​เริ่ม​การ​สนทนา​อาจ​ได้​รับ​กลับ​มา​เพียง​คำ​ตอบ​ที่​ห้วน​สั้น. คุณ​ถาม​ลูก​ชาย​ว่า “วัน​นี้​เป็น​ยัง​ไง​บ้าง​ลูก?” “ก็​ดี” เขา​ตอบ​เสียง​ห้วน. คุณ​ถาม​ลูก​สาว​ว่า “วัน​นี้​ที่​โรง​เรียน​เป็น​ยัง​ไง​บ้าง​จ้ะ?” “ก็​ไม่​เป็น​ไง​นี่​คะ” เธอ​ตอบ​พร้อม​กับ​ยัก​ไหล่. การ​พยายาม​กระตุ้น​การ​สนทนา​โดย​ถาม​ว่า “ทำไม​ลูก​ไม่​พูด​อะไร​มาก​กว่า​นี้​ล่ะ?” ก็​ได้​ความ​เงียบ​กริบ​เป็น​คำ​ตอบ.

จริง​อยู่ วัยรุ่น​บาง​คน​ไม่​มี​ปัญหา​ใน​การ​พูด​คุย​แสดง​ความ​คิด​เห็น. แต่​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​พูด​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​พ่อ​แม่​อยาก​ได้​ยิน. มารดา​คน​หนึ่ง​ใน​ไนจีเรีย​ชื่อ​เอดนา​เล่า​ว่า “เมื่อ​ดิฉัน​ขอ​ให้​ลูก​สาว​ทำ​อะไร​บาง​อย่าง ลูก​มัก​จะ​พูด​ว่า ‘อย่า​ยุ่ง​กับ​หนู​ได้​ไหม.’ ” รา​มอน ใน​เม็กซิโก​สังเกต​ว่า​ลูก​ชาย​วัย 16 ปี​ของ​เขา​มี​ปฏิกิริยา​คล้าย ๆ กัน. เขา​บอก​ว่า “เรา​ทะเลาะ​กัน​เกือบ​ทุก​วัน. เวลา​ที่​ผม​ขอ​ให้​เขา​ทำ​อะไร​สัก​อย่าง เขา​ก็​เริ่ม​หา​ข้อ​อ้าง​เพื่อ​จะ​ไม่​ต้อง​ทำ​สิ่ง​นั้น.”

การ​พยายาม​จะ​สนทนา​กับ​ลูก​วัยรุ่น​ที่​ไม่​ยอม​พูด​จา​อาจ​เป็น​การ​ทดสอบ​ความ​อด​ทน​ของ​พ่อ​แม่. คัมภีร์​ไบเบิล​ยอม​รับ​ว่า “แผนการ​ล้มเหลว​เมื่อ​ไม่​มี​การ​พูด​คุย​แบบ​ไว้​เนื้อ​เชื่อใจ​กัน.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) อันนา มารดา​ใน​รัสเซีย​ซึ่ง​เลี้ยง​ลูก​ตาม​ลำพัง​ยอม​รับ​ว่า “เวลา​ที่​ดิฉัน​ไม่​รู้​ว่า​ลูก​คิด​อะไร​อยู่ ดิฉัน​โมโห​มาก​จน​อยาก​จะ​กรีด​ร้อง​ออก​มา.” เพราะ​เหตุ​ใด​ใน​ช่วง​เวลา​ที่​จำเป็น​ต้อง​พูด​คุย​กัน​อย่าง​ยิ่ง เด็ก​หนุ่ม​สาว​กับ​พ่อ​แม่​จึง​ดู​เหมือน​จะ​หมด​ความ​สามารถ​ใน​การ​สื่อ​ความ​ไป​เสีย​แล้ว?

หา​ให้​ได้​ว่า​อะไร​คือ​อุปสรรค

การ​สื่อ​ความ​เป็น​มาก​กว่า​การ​พูด​คุย. พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ใจ​เต็ม​ไป​ด้วย​สิ่ง​ใด ปาก​ก็​พูด​ตาม​นั้น.” (ลูกา 6:45) ดัง​นั้น โดย​การ​สื่อ​ความ​ที่​ดี เรา​เรียน​รู้​จาก​ผู้​อื่น​และ​เปิด​เผย​สิ่ง​ต่าง ๆ เกี่ยว​กับ​ตัว​เรา​เอง. ประการ​หลัง​นี้​อาจ​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย​สำหรับ​วัยรุ่น เพราะ​เมื่อ​เริ่ม​แตก​เนื้อ​หนุ่ม​เนื้อ​สาว​แล้ว​แม้​แต่​เด็ก​ที่​เคย​กล้า​แสดง​ออก​ที่​สุด จู่ ๆ ก็​อาจ​กลาย​เป็น​เด็ก​ที่​เงียบ​ขรึม​และ​ขี้อาย​ได้. ผู้​เชี่ยวชาญ​กล่าว​ว่า เด็ก​วัยรุ่น​โดย​ทั่ว​ไป​รู้สึก​ว่า​พวก​เขา​กำลัง​อยู่​บน​เวที​ต่อ​หน้า​ผู้​ฟัง​หมู่​มาก​และ​มี​แสง​จาก​สปอตไลต์​ส่อง​อยู่​ตลอด​เวลา. แทน​ที่​จะ​หัน​หน้า​เข้า​หา​สปอตไลต์ เด็ก​วัยรุ่น​ที่​รู้สึก​ประหม่า​อาจ​ทำ​เหมือน​กับ​ดึง​ม่าน​ลง​โดย​หลบ​ไป​อยู่​ใน​โลก​ส่วน​ตัว​ที่​พ่อ​แม่​เข้า​ถึง​ได้​ยาก.

อีก​ปัจจัย​หนึ่ง​ที่​อาจ​เป็น​อุปสรรค​ขัด​ขวาง​การ​สื่อ​ความ​คือ​ความ​ต้องการ​ของ​วัยรุ่น​ที่​จะ​เป็น​เอกเทศ. ลูก​ของ​คุณ​ต้อง​เติบโต​ขึ้น​อย่าง​หลีก​เลี่ยง​ไม่​ได้ และ​ขั้น​ตอน​หนึ่ง​ของ​การ​เติบโต​คือ​การ​แยก​ตัว​จาก​ครอบครัว. นี่​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​พร้อม​จะ​ออก​จาก​บ้าน​แล้ว. ใน​หลาย​ด้าน​ลูก​จำเป็น​ต้อง​พึ่ง​คุณ​มาก​กว่า​แต่​ก่อน​ด้วย​ซ้ำ. แต่​ขั้น​ตอน​การ​แยก​ตัว​ออก​ไป​นั้น​เริ่ม​ขึ้น​ก่อน​วัย​ผู้​ใหญ่​หลาย​ปี. วัยรุ่น​หลาย​คน​ชอบ​คิด​ใคร่ครวญ​เรื่อง​ต่าง ๆ ตาม​ลำพัง​ก่อน​จะ​เผย​ให้​คน​อื่น​รู้​ว่า​ตน​คิด​อะไร.

จริง​อยู่ วัยรุ่น​อาจ​ไม่​ทำ​ตัว​เป็น​เอกเทศ​มาก​นัก​เมื่อ​อยู่​กับ​คน​รุ่น​เดียว​กัน ตาม​ที่​มารดา​ชื่อ​เจสซิกา​ใน​เม็กซิโก​สังเกต. เธอ​บอก​ว่า “เมื่อ​ลูก​สาว​ของ​ดิฉัน​ยัง​เด็ก ลูก​มัก​จะ​มา​ปรึกษา​ดิฉัน​เสมอ​เมื่อ​มี​ปัญหา. แต่​ตอน​นี้​ลูก​ไป​ปรึกษา​พวก​เพื่อน ๆ แทน.” ถ้า​ลูก​ของ​คุณ​เป็น​เช่น​นั้น​ด้วย ก็​อย่า​เพิ่ง​ลง​ความ​เห็น​ว่า​คุณ​ถูก “ไล่​ออก” จาก​การ​เป็น​พ่อ​แม่​แล้ว. ตรง​กัน​ข้าม การ​สำรวจ​ความ​คิด​เห็น​หลาย​ครั้ง​แสดง​ว่า แม้​วัยรุ่น​จะ​ไม่​ยอม​รับ​ออก​มา แต่​พวก​เขา​ก็​ถือ​ว่า​คำ​แนะ​นำ​ของ​พ่อ​แม่​มี​ค่า​มาก​กว่า​คำ​แนะ​นำ​ของ​เพื่อน. แต่​คุณ​จะ​ทำ​ให้​แน่​ใจ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​ได้​เปิด​โอกาส​ไว้​สำหรับ​การ​สื่อ​ความ​อยู่​เสมอ?

กุญแจ​สู่​ความ​สำเร็จ—ขจัด​อุปสรรค

สมมุติ​ว่า​คุณ​กำลัง​ขับ​รถ​อยู่​บน​ทาง​หลวง​ที่​ยาว​ไกล​และ​เป็น​ทาง​ตรง. ตลอด​ระยะ​ทาง​หลาย​กิโลเมตร สิ่ง​ที่​คุณ​จำเป็น​ต้อง​ทำ​คือ​ขยับ​พวงมาลัย​เพียง​เล็ก​น้อย. แต่​แล้ว​จู่ ๆ ถนน​ก็​โค้ง​หัก​ศอก. เพื่อ​ให้​รถ​ทรง​ตัว​อยู่​บน​ถนน​ต่อ​ไป คุณ​ไม่​มี​ทาง​เลือก​อื่น​นอก​จาก​หมุน​พวงมาลัย​ให้​รถ​เลี้ยว​โค้ง. เช่น​เดียว​กับ​เมื่อ​ลูก​ของ​คุณ​เข้า​สู่​วัยรุ่น. ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา คุณ​อาจ​จำเป็น​ต้อง​ปรับ​เปลี่ยน​วิธี​การ​เลี้ยง​ลูก​เพียง​เล็ก​น้อย​เท่า​นั้น. แต่​ตอน​นี้ ชีวิต​ของ​ลูก​อยู่​ใน​ช่วง​ที่​เหมือน​ถนน​โค้ง​หัก​ศอก และ​คุณ​ต้อง ‘หมุน​พวงมาลัย​ให้​รถ​เลี้ยว​โค้ง’ โดย​ปรับ​เปลี่ยน​วิธี​สื่อ​ความ​ของ​คุณ. ขอ​ให้​ถาม​ตัว​คุณ​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​ต่อ​ไป​นี้.

‘เมื่อ​ลูก​ชาย​หรือ​ลูก​สาว​ของ​ฉัน​พร้อม​จะ​พูด ฉัน​พร้อม​จะ​พูด​กับ​ลูก​ไหม?’ คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “คำ​พูด​ที่​เหมาะ​กับ​กาลเทศะ​เปรียบ​เหมือน​ผล​แอปเปิล​ทำ​ด้วย​ทองคำ​ใส่​ไว้​ใน​กระเช้า​เงิน.” (สุภาษิต 25:11) ดัง​ที่​เห็น​ชัด​จาก​ข้อ​คัมภีร์​นี้ บ่อย​ครั้ง​ประเด็น​สำคัญ​คือ​เรื่อง​เวลา. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง: ชาว​นา​ไม่​สามารถ​จะ​เร่ง​หรือ​เลื่อน​เวลา​เก็บ​เกี่ยว​พืช​ผล​ออก​ไป​ได้. เขา​เพียง​แต่​ต้อง​ทำ​งาน​อย่าง​เต็ม​ที่​เมื่อ​ฤดู​เก็บ​เกี่ยว​มา​ถึง. อาจ​มี​บาง​เวลา​โดย​เฉพาะ​ที่​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​รู้สึก​อยาก​พูด. จง​ใช้​ประโยชน์​จาก​โอกาส​นั้น. ฟรานเซส มารดา​ซึ่ง​เลี้ยง​ลูก​ตาม​ลำพัง​ใน​ออสเตรเลีย​บอก​ว่า “หลาย​ครั้ง​ลูก​สาว​จะ​เข้า​มา​ใน​ห้อง​นอน​ของ​ดิฉัน​ตอน​กลางคืน บาง​ครั้ง​ก็​อยู่​นาน​เป็น​ชั่วโมง. ดิฉัน​ไม่​ใช่​คน​นอน​ดึก​จึง​ไม่​ใช่​เรื่อง​ง่าย แต่​ถึง​กระนั้น​เรา​ก็​ได้​คุย​กัน​ทุก​เรื่อง.”

ลอง​วิธี​นี้: ถ้า​ดู​เหมือน​ว่า​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​ไม่​อยาก​พูด​ด้วย ก็​ลอง​ทำ​กิจกรรม​ด้วย​กัน เช่น ไป​เดิน​เล่น, ขับ​รถ​เที่ยว, เล่น​เกม, หรือ​ทำ​งาน​ต่าง ๆ ใน​บ้าน. บ่อย​ครั้ง โอกาส​ที่​ไม่​เป็น​ทาง​การ​เช่น​นั้น​จะ​ช่วย​ให้​ลูก​วัยรุ่น​รู้สึก​อยาก​พูด​มาก​ขึ้น.

‘ฉัน​เข้าใจ​ความ​หมาย​ที่​แฝง​อยู่ ใน​คำ​พูด​ของ​ลูก​ไหม?’ โยบ 12:11 กล่าว​ว่า “หู​มี​สำหรับ​ฟัง​คำ​ไว้​ใคร่ครวญ, ดุจ​ปาก​มี​ไว้​สำหรับ​ชิม​ให้​รู้​รส​อาหาร​มิ​ใช่​หรือ?” บัด​นี้​เป็น​เวลา​ที่​คุณ​จำเป็น​ต้อง “ฟัง” สิ่ง​ที่​ลูก​ชาย​หรือ​ลูก​สาว​ของ​คุณ​พูด​ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน. วัยรุ่น​มัก​จะ​ใช้​คำ​พูด​แบบ​เกิน​จริง. ตัว​อย่าง​เช่น ลูก​ชาย​หรือ​ลูก​สาว​ของ​คุณ​อาจ​พูด​ว่า “แม่​ทำ​เหมือน​หนู​เป็น​เด็ก​อยู่​เรื่อย!” หรือ “พ่อ​ไม่​เคย ฟัง​ผม​เลย!” แทน​ที่​จะ​ยก​ขึ้น​มา​ถกเถียง​กัน​ว่า​ถูก​หรือ​ไม่​ที่​จะ​ใช้​คำ​ว่า “อยู่​เรื่อย” และ “ไม่​เคย” ขอ​ให้​รู้​ว่า​ลูก​ของ​คุณ​อาจ​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ตาม​ที่​พูด​จริง ๆ. ตัว​อย่าง​เช่น คำ​พูด​ที่​ว่า “แม่​ทำ​เหมือน​หนู​เป็น​เด็ก​อยู่​เรื่อย” อาจ​หมาย​ความ​ว่า “หนู​รู้สึก​ว่า​แม่​ไม่​ไว้​ใจ​หนู” และ​ที่​ว่า “พ่อ​ไม่​เคย​ฟัง​ผม​เลย” อาจ​หมาย​ถึง “ผม​อยาก​บอก​ให้​พ่อ​รู้​ว่า​ผม​รู้สึก​ยัง​ไง​จริง ๆ.” จง​พยายาม​เข้าใจ​ความ​หมาย​ที่​แฝง​อยู่ ใน​คำ​พูด​เหล่า​นั้น.

ลอง​วิธี​นี้: เมื่อ​ลูก​วัยรุ่น​ใช้​คำ​พูด​ที่​น่า​ตกใจ​หรือ​พูด​ด้วย​อารมณ์​รุนแรง คุณ​อาจ​พูด​ทำนอง​นี้: “แม่​รู้​ว่า​ลูก​อารมณ์​ไม่​ดี และ​แม่​ก็​อยาก​ฟัง​เรื่อง​ที่​ลูก​จะ​พูด. บอก​แม่​สิ​ว่า​ทำไม​ลูก​ถึง​รู้สึก​ว่า​แม่​ทำ​เหมือน​ลูก​เป็น​เด็ก.” แล้ว​ก็​ฟัง​เขา​พูด​โดย​ไม่​ขัด​จังหวะ.

‘ฉัน​ทำ​ให้​การ​สื่อ​ความ​เป็น​เรื่อง​ยาก​ขึ้น​โดย​ไม่​รู้​ตัว​ด้วย​การ​พยายาม​บังคับ​ให้​ลูก​พูด​ไหม?’ คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​ว่า “เมล็ด​ที่​เกิด​ผล​แห่ง​ความ​ชอบธรรม​ถูก​หว่าน​ใน​สภาพ​ที่​มี​สันติ​สุข​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ผู้​ที่​สร้าง​สันติ​สุข.” (ยาโกโบ 3:18) ด้วย​คำ​พูด​และ​ท่าที​ของ​คุณ จง​สร้าง “สภาพ​ที่​มี​สันติ​สุข” เพื่อ​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ​จะ​รู้สึก​อยาก​พูด. จำ​ไว้​ว่า คุณ​คือ​ทนาย​ของ​ลูก. ดัง​นั้น เมื่อ​พูด​คุย​กัน​เรื่อง​ใด​เรื่อง​หนึ่ง จง​พยายาม​อย่า​พูด​เหมือน​เป็น​อัยการ​ที่​คอย​จ้อง​จับ​ผิด​พยาน​ใน​ศาล. บิดา​ใน​เกาหลี​ชื่อ อัน กล่าว​ว่า “พ่อ​แม่​ที่​สุขุม​จะ​ไม่​พูด​ว่า ‘เมื่อ​ไหร่​จะ​โต​ซัก​ที?’ หรือ ‘พ่อ​บอก​กี่​ครั้ง​กี่​หน​แล้ว?’ หลัง​จาก​พลาด​พลั้ง​อยู่​หลาย​ครั้ง​ใน​เรื่อง​นี้ ผม​สังเกต​ว่า​ลูก ๆ ไม่​เพียง​แต่​ไม่​พอ​ใจ​วิธี​ที่​ผม​พูด​กับ​พวก​เขา​เท่า​นั้น แต่​ไม่​พอ​ใจ​สิ่ง​ที่​ผม​พูด​ด้วย.”

ลอง​วิธี​นี้: ถ้า​ลูก​วัยรุ่น​ไม่​ยอม​ตอบ​คำ​ถาม​ของ​คุณ ก็​ลอง​ใช้​วิธี​อื่น. ตัว​อย่าง​เช่น แทน​ที่​จะ​ถาม​ลูก​สาว​ว่า​วัน​นี้​เป็น​อย่าง​ไร​บ้าง ก็​ให้​พูด​ถึง​ตัว​คุณ​เอง​ว่า​วัน​นี้​เป็น​อย่าง​ไร แล้ว​ดู​ว่า​ลูก​จะ​พูด​อะไร. หรือ​เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​ลูก​มี​ความ​คิด​เห็น​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​หนึ่ง จง​ถาม​คำ​ถาม​ที่​ไม่​เจาะจง​ไป​ที่​ตัว​เขา. ถาม​ลูก​ว่า​เพื่อน​ของ​เขา​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นั้น. แล้ว​ก็​ถาม​ว่า​ลูก​มี​อะไร​จะ​แนะ​นำ​เพื่อน​บ้าง.

การ​สื่อ​ความ​กับ​ลูก​วัยรุ่น​ไม่​ใช่​เรื่อง​ที่​เป็น​ไป​ไม่​ได้. จง​ปรับ​เปลี่ยน​วิธี​การ​สื่อ​ความ​ของ​คุณ​ตาม​ความ​จำเป็น. ลอง​ปรึกษา​พ่อ​แม่​คน​อื่น ๆ ที่​เคย​ประสบ​ความ​สำเร็จ​ใน​เรื่อง​นี้​มา​แล้ว. (สุภาษิต 11:14) เมื่อ​พูด​คุย​กับ​ลูก​ชาย​หรือ​ลูก​สาว จง “ไว​ใน​การ​ฟัง ช้า​ใน​การ​พูด ช้า​ใน​การ​โกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) สำคัญ​ที่​สุด​คือ อย่า​เลิก​ล้ม​ความ​พยายาม​ที่​จะ​เลี้ยง​ลูก​วัยรุ่น​ของ​คุณ “ด้วย​การ​ตี​สอน​จาก​พระ​ยะโฮวา และ​ปลูกฝัง​แนว​คิด​ของ​พระองค์​ให้​เขา.”—เอเฟโซส์ 6:4.

ถาม​ตัว​คุณ​เอง​ว่า . . .

  • ฉัน​สังเกต​เห็น​การ​เปลี่ยน​แปลง​อะไร​บ้าง​ใน​ตัว​ลูก​เมื่อ​เขา​เข้า​สู่​วัยรุ่น?

  • ฉัน​จะ​ปรับ​ปรุง​ความ​สามารถ​ใน​การ​สื่อ​ความ​ใน​ด้าน​ใด​ได้​บ้าง?