ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แสง​แดด​และ​อากาศ​บริสุทธิ์​เป็น “ยา​ฆ่า​เชื้อ” จาก​ธรรมชาติ​ไหม?

แสง​แดด​และ​อากาศ​บริสุทธิ์​เป็น “ยา​ฆ่า​เชื้อ” จาก​ธรรมชาติ​ไหม?

เมื่อ​นัก​วิทยาศาสตร์​ได้​ค้น​พบ​ยา​ปฏิชีวนะ​หรือ​ยา​ฆ่า​เชื้อ​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ช่วง​กลาง​ศตวรรษ​ที่ 20 พวก​หมอ​ต่าง​ก็​หวัง​ว่า​ยา​ตัว​ใหม่​นี้​จะ​รักษา​โรค​บาง​ชนิด​ให้​หาย​ขาด​ได้ ตอน​แรก​ยา​ฆ่า​เชื้อ​ดู​เหมือน​จะ​ใช้​ได้​ผล​ดี แต่​หลัง​จาก​ใช้​ยา​นี้​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย​แล้ว​กลับ​ทำ​ให้​แบคทีเรีย​ดื้อ​ยา

เพื่อ​หา​วิธี​ใหม่​ใน​การ​รักษา​อาการ​ติด​เชื้อ นัก​วิทยาศาสตร์​บาง​คน​จึง​กลับ​ไป​ดู​วิธี​ควบคุม​โรค​แบบ​ที่​เคย​ทำ​กัน​ใน​อดีต และ​วิธี​หนึ่ง​ที่​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​สุขภาพ​ก็​คือ​ใช้​แสง​แดด​และ​อากาศ​บริสุทธิ์

บทเรียน​จาก​อดีต

ใน​ประเทศ​อังกฤษ​มี​หลาย​คน​ที่​สนับสนุน​ว่า​แสง​แดด​และ​อากาศ​บริสุทธิ์​สามารถ​รักษา​โรค​ได้ หมอ​ที่​ชื่อ​จอห์น เล็ตซัม (คริสต์ศักราช 1744-1815) บอก​เด็ก​ที่​เป็น​วัณโรค​ให้​ออก​ไป​รับ​ลม​ทะเล​และ​แสง​แดด ใน​ปี 1840 ศัลยแพทย์​ที่​ชื่อ​จอร์จ โบดิงตัน ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า​คน​ที่​ทำ​งาน​กลางแจ้ง เช่น ชาว​สวน ชาว​นา คน​เลี้ยง​แกะ ส่วน​ใหญ่​จะ​ไม่​ค่อย​เป็น​วัณโรค แต่​คน​ที่​ทำ​งาน​ใน​ร่ม​มี​โอกาส​เสี่ยง​มาก​กว่า

ฟลอเรนซ์ ไน​ติง​เกล (ค.ศ. 1820-1910) มี​ชื่อเสียง​เนื่อง​มา​จาก​วิธี​การ​ดู​แล​ทหาร​อังกฤษ​ที่​บาดเจ็บ​ใน​ระหว่าง​สงคราม​ไครเมีย เธอ​ถาม​ว่า “คุณ​เคย​ไป​ห้อง​นอน​ของ​ใคร . . . ใน​ตอน​กลางคืน​หรือ​ตอน​เช้า​ก่อน​ที่​จะ​เปิด​หน้าต่าง แล้ว​มี​กลิ่น​เหม็น​อับ​ไหม?” เธอ​แนะ​นำ​ว่า​อากาศ​ใน​ห้อง​คน​ไข้​ควร​จะ​ให้​ความ​สดชื่น​เหมือน​กับ​อากาศ​ข้าง​นอก​แต่​ก็​ต้อง​ไม่​ทำ​ให้​คนไข้​หนาว เธอ​กล่าว​เพิ่ม​เติม​ว่า “จาก​ประสบการณ์​ใน​การ​ดู​แล​ผู้​ป่วย นอก​จาก​อากาศ​บริสุทธิ์​ซึ่ง​สำคัญ​ที่​สุด​แล้ว แสง​ก็​สำคัญ​ไม่​แพ้​กัน . . . และ​ไม่​ใช่​แสง​อะไร​ก็​ได้​แต่​ต้อง​เป็น​แสง​แดด​จริง ๆ” หลาย​คน​ใน​เวลา​นั้น​ก็​เชื่อ​ว่า​การ​เอา​ผ้า​ปู​ที่​นอน​และ​เสื้อ​ผ้า​มา​ตาก​แดด​จะ​ทำ​ให้​มี​สุขภาพ​ดี

ถึง​แม้​วิทยาศาสตร์​ได้​ก้าว​หน้า​ไป​มาก​จาก​สมัย​ของ​ฟลอเรนซ์ แต่​การ​ศึกษา​สมัย​ใหม่​ก็​ให้​ข้อ​สรุป​คล้าย​กัน เช่น งาน​วิจัย​ของ​ประเทศ​จีน​ใน​ปี 2011 พบ​ว่า​หอ​พัก​ที่​แออัด​และ​ไม่​มี​อากาศ​ถ่าย​เท​ใน​วิทยาลัย “ทำ​ให้​มี​โอกาส​ติด​เชื้อ​ใน​ระบบ​ทาง​เดิน​หายใจ​มาก​ขึ้น”

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) เข้าใจ​ว่า​การ​มี​อากาศ​ถ่าย​เท​ตาม​ธรรมชาติ ซึ่ง​รวม​ถึง​การ​ที่​มี​ลม​จาก​ข้าง​นอก​พัด​เข้า​มา​ใน​ตึก​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ที่​ช่วย​ควบคุม​การ​ติด​เชื้อ ที่​จริง​คำ​แนะ​นำ​จาก​องค์การ​อนามัย​โลก​ที่​พิมพ์​ใน​ปี 2009 สนับสนุน​ให้​สถาน​พยาบาล​หา​วิธี​การ​ถ่าย​เท​อากาศ​ตาม​ธรรมชาติ​เพื่อ​ช่วย​ลด​ความ​เสี่ยง​ของ​การ​ติด​เชื้อ *

คุณ​อาจ​บอก​ว่า ‘ฟัง​ดู​ดี​นะ​แต่​เรื่อง​นี้​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​วิทยาศาสตร์​ไหม? แสง​แดด​และ​อากาศ​จะ​ป้องกัน​การ​ติด​เชื้อ​ได้​อย่าง​ไร?’

สาร​จาก​ธรรมชาติ​ที่​ใช้​ฆ่า​เชื้อ​โรค

การ​ศึกษา​ของ​กระทรวง​กลาโหม​ของ​อังกฤษ​ได้​ให้​คำ​ตอบ​บาง​อย่าง นัก​วิทยาศาสตร์​ที่​นั่น​พยายาม​ทดลอง​ดู​ว่า​ถ้า​อาวุธ​ชีวภาพ​ระเบิด​ขึ้น​ที่​ลอนดอน อากาศ​จะ​เป็น​พิษ​ไป​นาน​แค่​ไหน เพื่อ​จะ​รู้​ว่า​เชื้อ​โรค​ที่​ลอย​อยู่​ใน​อากาศ​มี​ชีวิต​ได้​นาน​เท่า​ไร นัก​วิจัย​จึง​นำ​เชื้อ​แบคทีเรีย​อีโคไล ไป​ไว้​บน​ใย​แมงมุม​และ​เอา​ไป​วาง​ไว้​ใน​ที่​โล่ง เนื่อง​จาก​รู้​กัน​ว่า​แสง​แดด​สามารถ​ฆ่า​เชื้อ​นี้​ได้​จึง​ทำ​การ​ทดลอง​นี้​ใน​ตอน​กลางคืน เชื้อ​นี้​ตาย​ไหม?

สอง​ชั่วโมง​ต่อ​มา แบคทีเรีย​ตาย​เกือบ​ทั้ง​หมด แต่​เมื่อ​เอา​แบคทีเรีย​ใส่​ไว้​ใน​กล่อง​ที่​มิดชิด​แล้ว​นำ​ไป​วาง​ไว้​ที่​เดียว​กัน อุณหภูมิ​และ​ความ​ชื้น​เท่า​กัน เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​สอง​ชั่วโมง​แบคทีเรีย​ส่วน​ใหญ่​กลับ​ไม่​ตาย ทำไม​ถึง​เป็น​แบบ​นั้น? เห็น​ได้​ชัด​ว่า​การ​อยู่​ใน​ที่​โล่ง​แจ้ง​สามารถ​ฆ่า​เชื้อ​โรค​ได้​จริง ๆ ถึง​แม้​ว่า​สิ่ง​ที่​ฆ่า​เชื้อ​โรค​นั้น​ยัง​ไม่​เป็น​ที่​แน่ชัด แต่​นัก​วิจัย​ชี้​ว่า​ส่วน​ประกอบ​ที่​อยู่​ใน​อากาศ “ทำ​หน้า​ที่​เป็น​สาร​จาก​ธรรมชาติ​ที่​ใช้​ฆ่า​เชื้อ​โรค”

แสง​แดด​ยัง​มี​คุณสมบัติ​ใน​การ​ฆ่า​เชื้อ​ด้วย หนังสือ Journal of Hospital Infection อธิบาย​ว่า “จุลินทรีย์​ส่วน​ใหญ่​ที่​อยู่​ใน​อากาศ​ไม่​สามารถ​ทน​ต่อ​แสง​แดด​ได้”

เมื่อ​รู้​เรื่อง​นี้​แล้ว​คุณ​น่า​จะ​ทำ​อะไร? คุณ​อาจ​ออก​ไป​ข้าง​นอก​บ้าง​เพื่อ​รับ​แสง​แดด​และ​สูด​อากาศ​บริสุทธิ์​สัก​พัก​หนึ่ง การ​ทำ​แบบ​นี้​จะ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​สุขภาพ​ของ​คุณ

^ วรรค 8 อาจ​มี​เหตุ​ผล​บาง​อย่าง​ที่​ทำ​ให้​หลาย​คน​ไม่​อยาก​เปิด​หน้าต่าง​ทิ้ง​ไว้ เช่น อากาศ​ข้าง​นอก​ไม่​ดี มี​เสียง​รบกวน ผิด​กฎ​เรื่อง​การ​ป้องกัน​ไฟ​ไหม้ และ​ไม่​ปลอด​ภัย