ข้ามไปยังเนื้อหา

คริสเตียนต้องถือวันซะบาโตไหม?

คริสเตียนต้องถือวันซะบาโตไหม?

คำ​ตอบ​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล

 คริสเตียน​ไม่​ต้อง​ถือ​วัน​ซะบาโต​ประจำ​สัปดาห์ เพราะ​คริสเตียน​อยู่​ใต้ “บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์” ซึ่ง​ไม่​ได้​สั่ง​ให้​ถือ​วัน​ซะบาโต (กาลาเทีย 6:2; โกโลซาย 2:16, 17) ทำไม​เรา​จึง​มั่น​ใจ​ใน​เรื่อง​นี้? ก่อน​อื่น ให้​เรา​มา​ดู​ที่​มา​ของ​วัน​ซะบาโต

ซะบาโต​คือ​อะไร?

 คำ “ซะบาโต” มา​จาก​ภาษา​ฮีบรู​ซึ่ง​มี​ความหมาย​ว่า “พัก, หยุด” คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​ถึง​วัน​ซะบาโต​ครั้ง​แรก​ใน​บัญญัติ 10 ประการ​ที่​ให้​แก่​ชาว​อิสราเอล (เอ็กโซโด 16:23) อย่าง​เช่น ใน​ข้อ​ที่ 4 ของ​บัญญัติ 10 ประการ​บอก​ว่า “จง​ระลึก​ถึง​วัน​ซะบาโต ถือ​เป็น​วัน​บริสุทธิ์ จง​ทำ​การ​งาน​ทั้ง​สิ้น​ของ​เจ้า​หก​วัน แต่​วัน​ที่​เจ็ด​นั้น​เป็น​ซะบาโต​แห่ง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า ใน​วัน​นั้น​อย่า​กระทำ​การ​งาน​สิ่ง​ใด ๆ” (เอ็กโซโด 20:8-10) วัน​ซะบาโต​จะ​เริ่ม​ตั้ง​แต่​ตอน​ดวง​อาทิตย์​ตก​ใน​วัน​ศุกร์​และ​สิ้น​สุด​เมื่อ​ดวง​อาทิตย์​ตก​ใน​วัน​เสาร์ ระหว่าง​เวลา​นั้น คน​อิสราเอล​ห้าม​ออก​จาก​ที่​พัก ก่อ​ไฟ เก็บ​ฟืน หรือ​แบก​ของ (เอ็กโซโด 16:29; 35:3; อาฤธโม 15:32-36; ยิระมะยา 17:21) การ​ฝ่าฝืน​กฎ​ใน​วัน​ซะบาโต​มี​โทษ​ถึง​ตาย—เอ็กโซโด 31:15

 ตาม​ปฏิทิน​ของ​ชาว​ยิว​มี​การ​เรียก​บาง​วัน​ว่า​วัน​ซะบาโต​ด้วย ทุก ๆ ปี​ที่ 7 และ​ทุก ๆ ปี​ที่ 50 ก็​เรียก​ว่า​ซะบาโต​ด้วย​เหมือน​กัน ใน​ปี​ซะบาโต​จะ​ต้อง​ไม่​เพาะ​ปลูก​อะไร​ใน​ที่​ดิน​และ​คน​อิสราเอล​จะ​ไม่​ถูก​ทวง​หนี้​ใน​ปี​นั้น—เลวีติโก 16:29-31; 23:6, 7, 32; 25:4, 11-14; พระ​บัญญัติ 15:1-3

ค่า​ไถ่​ของ​พระ​เยซู​ยก​เลิก​กฎหมาย​เรื่อง​วัน​ซะบาโต

ทำไม​คริสเตียน​ไม่​ต้อง​ทำ​ตาม​กฎ​วัน​ซะบาโต?

 กฎ​เรื่อง​วัน​ซะบาโต​มี​ผล​บังคับ​ใช้​เฉพาะ​คน​ที่​ทำ​ตามบัญญัติ​ที่​ให้​ผ่าน​ทาง​โมเซเท่า​นั้น (พระ​บัญญัติ 5:2, 3; ยะเอศเคล 20:10-12) พระเจ้า​ไม่​เคย​เรียก​ร้อง​ให้​ใคร​ถือ​รักษา​วัน​ซะบาโต ค่า​ไถ่​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​ทำ​ให้​แม้​แต่​คน​ยิว​เอง​ก็ “พ้น​จาก​การ​อยู่​ใต้​พระ​บัญญัติ” ซึ่ง​ก็​รวม​ถึง​บัญญัติ 10 ประการ​ด้วย (โรม 7:6, 7; 10:4; กาลาเทีย 3:24,25; เอเฟโซส์ 2:15) แทน​ที่​จะ​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​กฎหมาย​ของ​โมเซ คริสเตียน​ทำ​ตาม​กฎ​แห่ง​ความ​รัก​ที่​ยิ่ง​ใหญ่—โรม 13:9, 10; ฮีบรู 8:13

ความ​เชื่อ​ที่​ผิด​เกี่ยว​กับ​วัน​ซะบาโต

 ความ​เชื่อ​ที่​ผิด พระเจ้า​ตั้ง​วัน​ซะบาโต​ขึ้น​ตอน​ที่​พระองค์​หยุด​พัก​ใน​วัน​ที่ 7

 ความ​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า “พระเจ้า​ทรง​อวย​พระ​พร​วัน​ที่​เจ็ด​และ​ทรง​ตั้ง​วัน​นี้​ไว้​เป็น​วัน​บริสุทธิ์ เพราะ​ใน​วัน​นั้น​พระองค์​ได้​ทรง​หยุด​พัก​จาก​การ​งาน​ทั้ง​สิ้น​ของ​พระองค์​ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ทรง​เนรมิต​สร้าง​ไว้​แล้ว​นั้น” (เยเนซิศ 2:3, ฉบับ​คิงเจมส์) ใน​ข้อ​นี้​ไม่​ได้​พูด​ถึง​กฎ​ที่​ตั้ง​ไว้​ให้​มนุษย์ แต่​พูด​ถึง​สิ่ง​ที่​พระเจ้า ทำ​ใน​วัน​ที่ 7 แห่ง​การ​สร้าง คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​เคย​บอก​ว่า​มี​คน​ถือ​วัน​ซะบาโต​ก่อน​สมัย​ของ​โมเซ

 ความ​เชื่อ​ที่​ผิด คน​อิสราเอล​อยู่​ใต้​กฎ​วัน​ซะบาโต​ก่อน​ได้​รับ​กฎหมาย​ของ​โมเซ

 ความ​จริง โมเซ​บอก​คน​อิสราเอล​ว่า “พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เรา​ได้​ตั้ง​คำ​สัญญา​ไมตรี​ไว้​กับ​เรา​ทั้ง​หลาย​ที่​โฮเร็บ” ซึ่ง​เป็น​พื้น​ที่​รอบ ๆ ภูเขา​ไซนาย ใน​คำ​สัญญา​ไมตรี​นี้​มี​กฎหมาย​เรื่อง​วัน​ซะบาโต​รวม​อยู่​ด้วย (พระ​บัญญัติ 5:2, 12) เห็น​ได้​ชัด​ว่า​วัน​ซะบาโต​เป็น​เรื่อง​ใหม่​สำหรับ​คน​อิสราเอล เพราะ​ถ้า​พวก​เขา​เคย​อยู่​ใต้​กฎ​วัน​ซะบาโต​มา​ก่อน​ตอน​ที่​อยู่​อียิปต์ แล้ว​วัน​ซะบาโต​จะ​เป็น​สิ่ง​เตือน​ใจ​คน​อิสราเอล​ใน​เรื่อง​การ​ปลด​ปล่อย​จาก​อียิปต์​อย่าง​ที่​พระเจ้า​บอก​ได้​อย่าง​ไร (พระ​บัญญัติ 5:15) ทำไม​พวก​เขา​ถึง​ถูก​สั่ง​ไม่​ให้​เก็บ​มานา​ใน​วัน​ที่ 7? (เอ็กโซโด 16:25-30) และ​ทำไม​พวก​เขา​ถึง​ไม่​รู้​วิธี​ที่​จะ​จัด​การ​กับ​คน​ที่​ละเมิด​กฎ​วัน​ซะบาโต?—อาฤธโม 15:32-36

 ความ​เชื่อ​ที่​ผิด กฎ​เรื่อง​วัน​ซะบาโต​เป็น​พันธสัญญา​ถาวร และ​ต้อง​ทำ​ตาม​จน​ถึง​ทุก​วัน​นี้

 ความ​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​ฉบับ​ได้​แปล​เรื่อง​กฎ​วัน​ซะบาโต​ไว้​ว่า​เป็น “พันธสัญญา​เนือง​นิตย์” (เอ็กโซโด 31:16, ฉบับ​คิงเจมส์) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คำ “เนือง​นิตย์” ใน​ภาษา​ฮีบรู​ยัง​มี​ความหมาย​ด้วย​ว่า “วัน​ข้าง​หน้า​อย่าง​ไม่​มี​กำหนด” ซึ่ง​นี่​ไม่​ได้​หมาย​ถึง​ตลอด​ไป​เท่า​นั้น ตัว​อย่าง​เช่น คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​คำ​เดียว​กัน​นี้​เมื่อ​พูด​ถึง​ตำแหน่ง​ปุโรหิต​ของ​คน​อิสราเอล ซึ่ง​พระเจ้า​ได้​ยก​เลิก​ตำแหน่ง​นี้​ไป​เมื่อ 2,000 กว่า​ปี​ที่​แล้ว—เอ็กโซโด 40:15; ฮีบรู 7:11, 12

 ความ​เชื่อ​ที่​ผิด คริสเตียน​ต้อง​ถือ​วัน​ซะบาโต​เพราะ​พระ​เยซู​เอง​ก็​ถือ​ด้วย

 ความ​จริง พระ​เยซู​ถือ​วัน​ซะบาโต​เพราะ​ท่าน​เป็น​คน​ยิว​ซึ่ง​อยู่​ใต้​กฎหมาย​ของ​โมเซ​ตั้ง​แต่​เกิด (กาลาเทีย 4:4) หลัง​จาก​พระ​เยซู​เสีย​ชีวิต กฎหมาย​ต่าง ๆ ใน​พระ​บัญญัติ​ถูก​ยก​เลิก​รวม​ถึง​วัน​ซะบาโต​ด้วย—โกโลซาย 2:13, 14

 ความ​เชื่อ​ที่​ผิด อัครสาวก​เปาโล​ยัง​คง​ถือ​วัน​ซะบาโต​ตอน​ที่​เป็น​คริสเตียน​แล้ว

 ความ​จริง เปาโล​ไป​ที่​ประชุม​ของ​คน​ยิว​ใน​วัน​ซะบาโต แต่​ไม่​ได้​ไป​เพื่อ​ถือ​วัน​ซะบาโต​กับ​พวก​เขา (กิจการ 13:14; 17:1-3; 18:4) แทน​ที่​จะ​ทำ​ตาม​ธรรมเนียม​ใน​เวลา​นั้น เปาโล​เผยแพร่​ข่าว​ดี​ใน​ที่​ประชุม​ของ​คน​ยิว เพราะ​ผู้​บรรยาย​ที่​มา​เยี่ยม​สามารถ​บรรยาย​ให้​กับ​ผู้​คน​ที่​มา​นมัสการ​พระเจ้า​ได้ (กิจการ 13:15, 32) เปาโล​ทำ​งาน​เผยแพร่ “ทุก​วัน” ไม่​ใช่​แค่​วัน​ซะบาโต​เท่า​นั้น—กิจการ 17:17

 ความ​เชื่อ​ที่​ผิด วัน​ซะบาโต​สำหรับ​คริสเตียน​คือ​วัน​อาทิตย์

 ความ​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​ได้​มี​คำ​สั่ง​ให้​คริสเตียน​พักผ่อน​และ​นมัสการ​พระเจ้า​ใน​วัน​อาทิตย์​ซึ่ง​ใน​สมัย​นั้น​วัน​อาทิตย์​เป็น​วัน​แรก​ของ​สัปดาห์ สำหรับ​คริสเตียน​ใน​ยุค​แรก​วัน​อาทิตย์​ก็​เป็น​วัน​ทำ​งาน​ปกติ​ทั่ว​ไป สารานุกรม ดิ อินเตอร์​แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล กล่าว​ว่า “ไม่​มี​การ​ถือ​วัน​ซะบาโต​ใน​วัน​อาทิตย์​จน​กระทั่ง​ใน​ศตวรรษ​ที่ 4 เมื่อ​คอนสแตนติน [จักรพรรดิ​โรมัน​นอก​รีต] ออก​คำ​สั่ง​ห้าม​ไม่​ให้​ทำ​งาน​บาง​ประเภท​ใน​วัน​อาทิตย์” a

 มี​ข้อ​คัมภีร์​อะไร​อีก​ที่​ทำ​ให้​ดู​เหมือน​ว่า​วัน​อาทิตย์​เป็น​วัน​พิเศษ? คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ว่า​อัครสาวก​เปาโล​กิน​ข้าว​กับ​เพื่อน​คริสเตียน “ใน​วัน​ต้น​สัปดาห์” ซึ่ง​ตรง​กับ​วัน​อาทิตย์ แต่​นี่​ไม่​ได้​เป็น​เรื่อง​แปลก​อะไร​เพราะ​เปาโล​กำลัง​จะ​ไป​จาก​พวก​เขา​ใน​วัน​รุ่ง​ขึ้น (กิจการ 20:7) คล้าย​กัน บาง​ประชาคม​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ให้​เก็บ​เงิน​ไว้​สำหรับ​งาน​บรรเทา​ทุกข์ “ทุก​วัน​ต้น​สัปดาห์” ซึ่ง​ตรง​กับ​วัน​อาทิตย์ แต่​นี่​ก็​เป็น​เพียง​คำ​แนะ​นำ​ที่​ใช้​ได้​จริง​เพื่อ​กัน​เงิน​บริจาค​ไว้​เป็น​ส่วน​ตัว เงิน​บริจาค​จะ​ถูก​เก็บ​ไว้​ที่​บ้าน ไม่​ได้​ถูก​ส่ง​ต่อ​กัน​ใน​ที่​ประชุม—1 โครินท์ 16:1, 2

 ความ​เชื่อ​ที่​ผิด เป็น​เรื่อง​ผิด​ที่​จะ​ตั้ง​วัน​หนึ่ง​ใน​สัปดาห์​ไว้​เพื่อ​พัก​และ​นมัสการ​พระเจ้า

 ความ​จริง คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​คริสเตียน​แต่​ละ​คน​ตัดสิน​ใจ​เรื่อง​นี้​ด้วย​ตัว​เอง—โรม 14:5

a ดู​สารานุกรม​คาทอลิก​ฉบับ​ใหม่ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ​พิมพ์​ครั้ง​ที่ 2 เล่ม 13 หน้า 608