ข้ามไปยังเนื้อหา

พี่​น้อง​เฮอร์มีน ชมิดท์

18 เมษายน 2024
เยอรมนี

เฮอร์มีน ชมิดท์ พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​สุด​ท้าย​ที่​รอด​ชีวิต​จาก​ค่าย​กัก​กัน​นาซี เสีย​ชีวิต​แล้ว​ใน​วัย 98

เฮอร์มีน ชมิดท์ พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​สุด​ท้าย​ที่​รอด​ชีวิต​จาก​ค่าย​กัก​กัน​นาซี เสีย​ชีวิต​แล้ว​ใน​วัย 98

เฮอร์มีน​ก่อน​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ค่าย​กัก​กัน​สตุทท์ฮอฟ

วัน​ที่ 31 มีนาคม 2024 พี่​น้อง​เฮอร์มีน ชมิดท์ เสีย​ชีวิต​ลง​ด้วย​อายุ 98 ปี เท่า​ที่​เรา​รู้ เธอ​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​คน​สุด​ท้าย​ที่​ต้อง​อด​ทน​กับ​ความ​ยาก​ลำบาก​ใน​ค่าย​กัก​กัน​นาซี​เพราะ​ความ​เชื่อ

เฮอร์มีน​เกิด​วัน​ที่ 13 พฤศจิกายน 1925 เมือง​กดันซค์ ซึ่ง​ตอน​นี้​อยู่​ใน​ประเทศ​โปแลนด์ พ่อ​แม่​ของ​เฮอร์มีน​ชื่อ โอสคาร์​และ​ฟรีดา โคชมีเดอร์ ทั้ง​คู่​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา พวก​เขา​สอน​เฮอร์มีน​ให้​วางใจ​พระ​ยะโฮวา​และ​มี​ความ​เชื่อ​เข้มแข็ง ใน​ปี 1939 กอง​กำลัง​นาซี​ได้​เข้า​ยึด​เมือง​กดันซค์ ทำ​ให้​พยาน​พระ​ยะโฮวา​เริ่ม​ถูก​ข่มเหง​อย่าง​หนัก ช่วง​นี้​เอง​ที่​เฮอร์มีน​ได้​อุทิศ​ชีวิต​ของ​เธอ​ให้​พระ​ยะโฮวา​และ​รับ​บัพติศมา​ใน​วัน​ที่ 2 พฤษภาคม 1942 ตอน​อายุ 16 ปี

ปี​ถัด​มา​ใน​เดือน​มิถุนายน 1943 เฮอร์มีน​ที่​อายุ 17 ปี​ถูก​พวก​นาซี​จับ​กุม​และ​ควบคุม​ตัว เธอ​ถูก​จับ​อีก​ครั้ง​ใน​เดือน​เมษายน 1944 ครั้ง​นี้​เธอ​ถูก​ส่ง​ตัว​ไป​ที่​ค่าย​กัก​กัน​สตุทท์ฮอฟ พอ​นึก​ย้อน​กลับ​ไป​ถึง​ช่วง​ที่​น่า​กลัว​นั้น เฮอร์มีน​บอก​ว่า “มัน​ไม่​ง่าย​เลย​ที่​จะ​รับมือ​กับ​สิ่ง​เลว​ร้าย​ที่​เกิด​ขึ้น เรา​ถูก​ทำ​ให้​อับอาย​ซึ่ง​ทำ​ร้าย​ความ​รู้สึก​เรา​มาก​ ๆ พวก​เกสตาโป​ทำ​ทุก​อย่าง​เพื่อ​ให้​ฉัน​ยอม​แพ้ ฉัน​ไม่​ใช่​คน​เก่ง​อะไร เป็น​แค่​เด็ก​ผู้​หญิง​ธรรมดา​ ๆ แต่​ฉัน​ไม่​เคย​สงสัย​หรือ​ลังเล​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​ฉัน​ต้อง​ทำ​เลย นี่​เป็น​เรื่อง​ของ​การ​แสดง​ความ​ภักดี​และ​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​ทำ​ตาม​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​ฉัน ถ้า​คุณ​ทำ​ตาม​ความ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ชั่ว​ดี สิ่ง​ที่​คุณ​จะ​ได้​รับ​ก็​คือ​สันติ​สุข คุณ​จะ​มี​สันติ​สุข​กับ​ตัว​เอง​และ​มี​สันติ​สุข​กับ​พระเจ้า”

ฮอร์ส​และ​เฮอร์มีน​ใน​เดือน​มีนาคม 1995

ปี​ต่อ​มา​ใน​เดือน​เมษายน 1945 กองทัพ​รัสเซีย​เคลื่อน​พล​เข้า​มา​ใกล้​ค่าย​กัก​กัน​สตุทท์ฮอฟ แต่​ทหาร​รักษา​การณ์​หน่วย​เอส​เอส​ของ​เยอรมัน​ไม่​อยาก​ให้​นัก​โทษ​เป็น​อิสระ​เพราะ​การ​บุก​โจมตี​ของ​รัสเซีย พวก​ทหาร​เยอรมัน​เลย​บังคับ​ให้​นัก​โทษ​หลาย​คน​ขึ้น​เรือ​และ​ทิ้ง​พวก​เขา​ไว้​กลาง​ทะเล เฮอร์มีน​กับ​นัก​โทษ​อีก 370 คน​รอด​ชีวิต​เพราะ​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​เมื่อ​เรือ​ของ​พวก​เขา​ถูก​ลาก​เข้า​มา​ที่​เกาะ​มืน (Møn) ของ​ประเทศ​เดนมาร์ก​ใน​เดือน​พฤษภาคม 1945 ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น​เฮอร์​มีน​ก็​ได้​กลับ​มา​อยู่​กับ​พ่อ​แม่​อีก​ครั้ง

ปี 1947 เฮอร์​มีน​แต่งงาน​กับ​ฮอร์ส ชมิดท์ ก่อน​หน้า​นี้​ฮอร์ส​ไม่​ยอม​เป็น​ทหาร​และ​ยัง​ช่วย​ส่ง​สิ่ง​พิมพ์​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ช่วง​ที่​งาน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ถูก​สั่ง​ห้าม​ด้วย เขา​ต้อง​ขึ้น​ศาล ถูก​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต และ​ถูก​ขัง​ใน​เรือน​จำ​แบรนเดนบูร์ก-กอร์เดิน พอ​ถึง​วัน​ที่ 27 เมษายน 1945 แค่​ไม่​กี่​วัน​ก่อน​ที่​ฮอร์ส​จะ​ต้อง​ถูก​ประหาร เรือน​จำ​แห่ง​นี้​ก็​ถูก​บังคับ​ให้​ปล่อย​ตัว​นัก​โทษ เขา​เลย​รอด​ตาย​อย่าง​หวุดหวิด ฮอร์ส​และ​เฮอร์มีน​ใช้​ชีวิต​คู่​ด้วย​กัน​เกือบ 63 ปี​จน​กระทั่ง​ฮอร์ส​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​ปี 2010

ทั้ง​เฮอร์มีน​และ​ฮอร์ส​ได้​เล่า​ประสบการณ์​ของ​พวก​เขา​ให้​คน​อื่น​ ๆ ​ฟัง​เป็น​เวลา​หลาย​ปี ใน​การ​สัมภาษณ์​เมื่อ​ปี 1998 เฮอร์มีน​พูด​ถึง​ชีวิต​ของ​เธอ​ที่​ตั้งใจ​รักษา​ความ​ซื่อสัตย์​ภักดี​ต่อ​พระเจ้า​ว่า “การ​เดิน​บน​เส้น​ทาง​นี้​ไม่​ง่าย​เลย แต่​มัน​ก็​สวย​งาม​ที่​สุด ไม่​ว่า​ยังไง​ฉัน​ก็​จะ​ไม่​ออก​จาก​เส้น​ทาง​นี้”

เรา​เห็น​ค่า​ตัวอย่าง​ของ​เฮอร์มีน​ที่​รักษา​ความ​ซื่อสัตย์​แม้​ถูก​ข่มเหง ขอ​ให้​เรา​เลียน​แบบ​เธอ​โดย​แสดง​ความ​กล้า​หาญ รักษา​ความ​เชื่อ​ให้​เข้มแข็ง และ​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​จะ​ปก​ป้อง​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อสัตย์​ของ​พระองค์​แน่นอน—สดุดี 31:23, 24